นครพนม วุ่นอีก ส.อบจ.ดัง ร้อง ปปช.สอบข้อเท็จจริง โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม หลังพบพิรุธ รอบ 3 ปี 2565 – 2567 อนุมัติงบประมาณ เกือบ 500 ล้านบาท รวมกว่า 800 โครงการ เป็นการตกลงราคาจ้าง ต่ำกว่า 5 แสนทั้งหมด จี้ ปปช.สอบ  หวั่นเอื้อนายทุนเรียกประโยชน์ส่วนต่าง จากโครงการ ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ด้านผู้เชี่ยวชาญธนาคารน้ำใต้ดิน ยัน อปท.บางแห่ง ขุดผิดหลักทฤษฎี ไม่เกิดประโชน์ 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดนครพนม นายวัฒนา ไตรยราช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม เขต อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี พีรยุทธ ตั้งตะกูล ส.อบจ.เขต อ.เมืองนครพนม นายนาวิน นามเรือง อดีต ส.อบจ.เขต อ.นาแก ในฐานะตัวแทนประชาชน นำเอกสารหลักฐาน เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ ปปช.นครพนม กรณี ได้รับข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล รวมถึงมีประชาชน ในพื้นที่ จ.นครพนม ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ ข้อมูล เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ สำหรับโครงการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณ ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ที่มีการอนุมัติงบประมาณ ดำเนินการ ขุดลอกแหล่งน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ จ.นครพนม ระหว่างปีงบประมาณ 2565-2566-2567 มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

1. ได้รับงบประมาณจัดสรรจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดิน แบบเปิด จำนวน 348 โครงการ  ธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด รวมจำนวน 171 โครงการ รวมทั้งสิ้น 519 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 259,500,000 บาท 2. บัญชีโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 59 โครงการ รวมเป็นจำนวนเงิน 29,500,000 บาท 3. ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 60 โครงการ รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท 3. สรุปโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งสิ้น 867 โครงการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 433,500,000 บาท โดยต้องการ ให้ ปปช.นครพนม มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ป้องกันไม่ให้มีการทุจริตจากโครงการดังกล่าว หรือหากมีการดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเบิกจ่าย ให้มีการตรวจสอบย้อนหลัง หากพบมีความผิดให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ในส่วนเกี่ยวข้อง และมีการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน ในครั้งนี้ มี นายปริญญา ฤทธิ์ตา เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตชำนาญการ พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รับเรื่อง พร้อมดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอน

    นายวัฒนา ไตรยราช ส.อบจ.นครพนม เขต อ.นาแก เปิดเผยว่า ก่อนนี้ตนเคยคัดค้านในสภา อบจ.นครพนม แต่ยอมรับว่าเป็นเสียงข้างน้อย จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น มีข้อพิรุธ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม รวมถึงชาวบ้านไม่ได้รับประโยน์สูงสุด ไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณภาษีของประชาชน อีกทั้งโครงการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดิน บางจุด ไม่มีมาตรฐาน ตามหลักทฤษฎีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการใช้งบประมาณของรัฐสูญเปล่า นอกจากนี้ยังพบข้อพิรุธว่า ในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนใหญ่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษตกลงราคา ไม่มีการประมูลแข่งขันประกวดราคา เป็นการเอื้อประโยชน์ แก่ผู้รับจ้างที่เป็นพรรคพวกของตนเองที่มีอำนาจหน้าที่ เอื้อต่อการแสวงประโยชน์ จากงบประมาณของรัฐ และยังตรวจสอบพบว่า มีผู้รับจ้างส่วนใหญ่เป็นรายเดียวกัน แต่รับงานหลายโครงการ และยังเป็นบริษัท ผู้รับจ้างที่จดทะเบียนขึ้น มาไม่กี่เดือน ก่อนที่จะมารับงาน

อย่างไรก็ตาม จึงขอร้องเรียนมายัง ปปช.นครพนม เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และตรวจสอบการทุจริต เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณภาษีของประชาชน และให้มีการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน สูงสุด โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวหาใคร และไม่มีส่วนได้เสียจากโครงการ แต่อยากให้เกิดความโปร่งใส ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลตรงกัน หากไม่มีการทุจริต ถือเป็นเรื่องดี ถือว่าใช้งบประมาณภาษีประชาชนคุ้มค่า 

ด้าน นายปริญญา ฤทธิ์ตา เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตชำนาญการ เปิดเผยว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ปปช. นครพนม มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบป้องกันการทุจริต ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ส่วนแนวทางการตรวจสอบ มี 2 แนวทาง คือ การตรวจสอบป้องปราม ไม่ให้มีการทุจริต ในส่วนที่ได้รับการร้องเรียน อีกแนวทางสำหรับโครงการที่ดำเนินการเรียบร้อย จะมีการตรวจสอบย้อนหลัง หากพบว่า มีการดำเนินโครงการที่ไม่มีมาตรฐาน หรือไม่เหมาะสมกับงบประมาณ หรือส่อในทางทุจริต จะต้องมีการดำเนินตามขั้นตอน รวมถึงเอาผิดในส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกันกับโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เมื่อมีการร้องเรียน จะได้รับเรื่อง เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริง โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ยืนยันหากพบว่า มีการทุจริต จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายทุกหน่วยงาน ไม่มีละเว้น
    

ขณะเดียวกัน ด้านผู้เชี่ยวชาญในการขุดบ่อน้ำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า สำหรับโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ยืนยัน ว่า ไม่สามารถขุดได้ทุกแห่ง ต้องผ่านการสำรวจ พื้นที่แหล่งน้ำ ชั้นดิน และความเหมาะสมตามหลักทฤษฎี เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการดูดวับน้ำลงดิน ตามระบบธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ยอมรับว่า อปท.บางแห่ง ขุดผิดหลักทฤษฎี และไม่อยู่ในจุดที่เหมาะสม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ อย่างแน่นอน