หัวหินระดมชาวบ้านจับปลาหมอคางดำในคลองพระราชดำริครั้งแรก หลังพบแพร่พันธ์ุจำนวนมาก ชาวบ้านเผยปลาหมอคางดำบางส่วนออกสู่ทะเลแล้ว เตรียมวางแผนดับจับให้หมดโดยเร็วที่สุด  


วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวประมงในพื้นที่อำเภอหัวหิน จำนวน 6 กลุ่ม นำโดย นายวินัย วรรณสุก ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กหัวดอน ว่าที่ร้อยตรี สมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิติศักดิ์ บัวลาด ประมงอำเภอหัวหิน และชาวบ้านในพื้นที่ ระดมกำลังช่วยกันดักจับปลาหมอคางดำครั้งแรก เพื่อตรวจสอบปริมาณปลาหมอคางดำในคลองพระราชดำริ ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะประเมินสถานการณ์และหาวิธีการกำจัดปลาหมอคางดำ ที่พบการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติออกไปให้ได้มากที่สุด 

โดยวันนี้น้ำทะเลลดต่ำ ทำให้ปลาหมอคางดำไม่มากเหมือนทุกวันเนื่องจากปลาจะไปแอบซ่อนตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะป่าชายเลน ซึ่งปลาที่จับได้วันนี้ เป็นปลาขนาดวัยเจริญพันธ์ุ มีความกว้าง ประมาณ 2 - 3 นิ้ว ซึ่งสามารถตั้งท้องและวางไข่ได้แล้ว โดยตรวจพบว่าปลาส่วนใหญ่มีไข่อยู่ในปาก และยังสามารถจับลูกปลาขนาดเล็ก ได้อีกเป็นจำนวนมาก 


ขณะเดียวกันมีชาวบ้านบางส่วน ช่วยกันทอดแหจับปลาหมอคางดำเพื่อ นำไปประกอบอาหาร ลดรายจ่าย ทั้งปลาทอด ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว หรือแม้แต่ปลาร้า ฯลฯ ซึ่งต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลาหมอคางดำ รสชาติเหมือนปลานิล สามารถกินได้ เพียงแต่จะต้องปรุงรสเพิ่มเท่านั้น การจับไปรับประทานแบบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำให้น้อยลงได้ 

นายวินัย วรรณสุก ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กหัวดอน กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านกลุ่มประมงเรือเล็ก จำนวน 6 กลุ่มในอำเภอหัวหิน พร้อมด้วย ประมงอำเภอหัวหิน และเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ระดมกำลังช่วยกันดักจับปลาหมอคางดำ โดยเป็นการทดลองนำเอาถุงอวนขึงกั้นเพื่อดักจับ และนำอวนอีกหนึ่งปากไปไล่ปลาหมอคางดำจากอีกด้านเพื่อให้ปลามารวมตัวกันและเข้าถุงอวนขนาด 6 - 8 เมตร ที่เตรียมไว้ เพื่อตรวจสอบปริมาณปลาหมอคางดำในคลองพระราชดำริ เมื่อทดสอบแล้วได้ผลอย่างไร จะนำไปปรับใช้กับคลองตะเกียบ ซึ่งเป็นคลองที่มีขนาดใหญ่กว่า รวมถึงคลองอื่น ๆ  ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำด้วย 


สำหรับการดักจับปลาหมอคางน้ำวันนี้ เป็นการประเมินสถานการณ์และหาวิธีการว่า จะทำอย่างไรที่จะจับปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด ขณะนี้พบการระบาดของปลาหมอคางดำในคลองพระราชดำริ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน ไล่ลงมาจนถึงคลองตะเกียบ ซึ่งจะหนักสุดที่บริเวณปากคลองเขาตะเกียบ ซึ่งตนมีเรือจอดอยู่ปากคลองตะเกียบ ทำให้เห็นปลาว่าเยอะมาก เวลาปลารวมตัวกันเป็นก้อน ๆ น้ำหนักเป็นตัน ๆ สามารถทำให้เรือประมงของตน ที่มีความยาว 13 เมตร กว้าง 4 เมตร โคลงได้ เพราะเวลาที่ปลาตกใจว่ายน้ำหนีพร้อมกันจะมีความรุนแรง เรือของตนโยกหรือโคลงไปโคลงมาได้เลย หากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงในการแพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่น ๆ 


ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำบางส่วนน่าจะออกทะเล หากินตามแนวชายฝั่งไปบ้างแล้ว ซึ่งหากปล่อยไว้ทรัพยากรทางทะเลคงไม่เหลือ เพราะปลาหมอคางดำกินหมด ไม่ว่าลูกกุ้งลูกปลา ซึ่งชาวบ้านมีการปล่อยลูกพันธุ์ปูลูกพันธ์ุปลา แต่กลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เชื่อว่าบางส่วนปลาหมอคางน้ำคงกินลูกพันธุ์เหล่านี้ไปหมดแล้ว ส่วนอวนที่ใช้ดักจับในวันนี้คงจับได้แต่ปลาขนาดใหญ่ ส่วนลูกปลาขนาดเล็กที่มันเยอะมาก ๆ คงจับไม่ได้ คงต้องหาอวนตาเล็กมาช่วย หรือทำซ้ำ ๆ ดักจับบ่อย ๆ จนกว่าปลาจะหมดไปเอง    


ด้านว่าที่ร้อยตรี สมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ประมงจังหวัดประจวบ ลงพื้นที่ร่วมกับประมงอำเภอหัวหิน และทีมยุทธศาสตร์ประจวบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้สำรวจปัญหาปลาหมอคางน้ำมาตั้งแต่ต้นปี พบว่าขณะนี้มีการระบาดทั้ง 8 อำเภอ ชุกชุมมากในอำเภอตอนบน คือ หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรีและอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบปลาหมอคางดำมากกว่าอำเภอตอนล่าง ในส่วนของประมงได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มคิ๊กออฟหาแนวทางในการกำจัดปลาหมอคางดำ ทำมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีการวางแผนว่าจะดำเนินการร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อบจ. เทศบาล และทีมยุทธศาสตร์ กระทรวงเกษตรฯ มาร่วมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้เห็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น 


ซึ่งขณะนี้แต่ละอำเภอโดยประมงอำเภอ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อดำเนินการจับปลาหมอคางดำ ซึ่งปลาที่จับได้ จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์เท่าที่ทำได้ก่อน คือนำไปกิน นำไปขายก่อน แต่หากมีปริมาณมาก ๆ นำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำชีวภาพ ฯลฯ ส่วนการรับซื้อ ทางประมงกำลังประสานโรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม - จ.สมุทรสาคร เนื่องจากประจวบฯ ไม่มีโรงงานแปรรูปปลาโดยตรง หรือ อาจจะหาแนวทางอื่น เพื่อหาจุดรับซื้อ อย่างน้อยชาวบ้านที่ช่วยหาปลาจะได้มีรายได้ ส่วนจะได้ราคาโลละกี่บาทนั้นต้องประสานอีกครั้ง ซึ่งประมงไม่ได้นิ่งนอนใจกับการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยขณะนี้ได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทราบเรื่องซึ่งท่านให้ความสำคัญและกำชับให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว 


ยอมรับว่าเป็นห่วง กรณีที่ปลาหมอคางดำจะแพร่พันธุ์ออกสู่ทะเลอ่าวไทย จริง ๆ คือ ไม่ว่าจะอยู่น้ำจืดหรือทะเล ก็มีความเป็นห่วง โดยขณะนี้พยายามที่จะจับเอาปลาที่อยู่น้ำกร่อยขึ้นมาให้ได้มากที่สุด โดยใช้เครื่องมือประมงที่มี ทั้งแห ตะคัดดักปลา อวน ฯลฯ โดยล่าสุดตนวางแผนว่าจะหาเครื่องมือส่วนกลางไว้ให้ อำเภอละ 10-20 ชุด เพื่อให้ชาวบ้านที่จะช่วยจับปลามายืมไปใช้ได้ เพราะในช่วงนี้ยังไม่มีการรับซื้อ ทอดแห วางอวนไปครั้งสองครั้ง ก็ขาดต้องซ่อม จะเป็นการเพิ่มภาระให้ชาวบ้าน หากมีเครื่องมือประมงส่วนกลางจะได้ช่วยประชาชนได้บ้าง แต่หากรับซื้อแล้วมีรายได้ ส่วนนี้ควรใช้เครื่องมือประมงของตัวเอง จะพยายามเอาขึ้นให้ได้มากที่สุดทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก แต่คงยังไม่สามารถทำให้กลายเป็นศูนย์ได้ในช่วงนี้ คงต้องค่อย ๆ ทำ  


“ส่วนกรณีที่มีคำแนะนำเรื่องการปล่อยปลากระพง ขนาดใหญ่เพื่อให้ไปกินปลาหมอคางดำนั้น ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ที่ ต.คลองวาฬ กำลังเพาะขยายพันธ์ุปลากระพง และดูขนาดปลาว่า ขนาดปลาที่เหมาะสมควรมีขนาดใหญ่แค่ไหนที่จะสามารถปล่อยลงไปกินปลาหมอคางดำได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้เวลาในการทำงาน ต้องขอกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ล่าสุดด้วย”  ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าว 


มีรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวประมงเรือเล็กบางราย ให้ข้อมูลด้วยว่า ออกเรือไปหาปลาที่บริเวณเกาะสิงโต ห่างจากชายฝั่งขาตะเกียบไปประมาณ 800 เมตร พบว่าสามารถจับปลาหมอคางดำ ปะปนมากับสัตว์น้ำชนิดอื่น จึงเป็นที่น่าตกใจว่า ปลาหมอคางดำสามารถแพร่ระบาดและดำรงชีพอยู่ในน้ำเค็มได้ ไม่ใช่แค่น้ำกร่อยเท่านั้น ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีกำจัดปลาหมอคางดำให้ได้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลจะสูญพันธุ์ไป.