วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัท Degree Plus ในเครือบริษัท LEARN Corporation จัดงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2 แบบไฮบริด เสริมความเข้มแข็ง ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นางจุฑามาศ ศิริปาณี หัวหน้างานพระราชบัญญัติ เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายสุรี อัสววิมล ผู้จัดการทั่วไปและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดีกรีพลัส ร่วมแถลงข่าว 

 

นางจุฑามาศ กล่าวว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 สะท้อนความสำคัญของการศึกษาวิจัยเชื้อก่อโรคในสถานปฏิบัติการ ทำให้ประเทศไทยมีสถานปฏิบัติการระดับ 2 เพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดของเชื้อโรคใหม่ในอนาคต บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องได้รับการอบรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ปรับปรุงใหม่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 กำหนดให้ผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานปฏิบัติการระดับ 2 ต้องได้รับการอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) จากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือรับรองหรือใบอนุญาต และต้องได้รับการอบรมซ้ำอย่างน้อยทุก 3 ปี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมในการดำเนินงานอย่างปลอดภัย

 

ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับรองหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ ทั้งหมด 24 หลักสูตรจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาค โดยกำหนดหัวข้อ เนื้อหา จำนวนชั่วโมงเรียนและเกณฑ์การประเมินไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหลักสูตร "Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2" ในรูปแบบไฮบริด ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหลักสูตรแรกที่ได้รับการรับรองตามเลขที่ สธ ๐๖๒๑.๐๖/๗๐๑๙ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

ผศ.ดร.อิทธิโชติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ BSL-2 ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 7 หลักสูตร มากที่สุดในประเทศไทย เป็นหลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ 2 หลักสูตร และหนึ่งในนั้นเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยในรูปแบบไฮบริด คณะวิทยาศาสตร์ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและพัฒนาหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ช่วยยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการศึกษา รวมถึงพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย เตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในอนาคต

 

รศ.ดร.พลิษฐ์ กล่าวว่า หลักสูตรอบรมในรูปแบบออนไซต์ มีทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 1,000 คน และได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ที่เข้ารับการอบรม โดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกับบริษัท Degree Plus เครือบริษัท LEARN Corporation ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เนื้อหาภาคบรรยายแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท Degree Plus จากนั้นจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากระบบในภาคบรรยาย เพื่อนำมาขอเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฝึกทักษะในภาคปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลาครึ่งวัน และทำแบบทดสอบประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ เมื่อทดสอบผ่านเกณฑ์ 70% จึงจะได้รับใบประกาศนียบัตรผ่านการอบรมเต็มหลักสูตรที่สามารถใช้ได้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558

 

นายสุรี กล่าวว่า บทเรียนออนไลน์ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพมีจำนวน 10 บทเรียน แต่ละบทแบ่งออกเป็นหัวข้อละไม่เกิน 15 นาที เพื่อให้ผู้เรียนได้ Focus กับเนื้อหา สามารถย้อนกลับ ปรับเพิ่มหรือลดระดับความเร็วของวิดีโอได้ ซึ่งใช้เวลาในการเรียนรู้เฉลี่ย 2-3 บทเรียนต่อสัปดาห์ รวมระยะเวลา 1 เดือน และกำหนดให้มีการทำแบบทดสอบหลังการเรียนเพื่อทบทวนความรู้ วัดความเข้าใจของผู้เรียนอีกด้วย โดยตั้งเป้าให้หลักสูตรครอบคลุมผู้เรียนจำนวน 1,000 คนต่อปี สนองความต้องการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยต่อไป

 

ดร.ชนกพร กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต