ท่าทีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศลั่นว่า “ถ้ายังไม่มีความพร้อม และข้อมูลไม่ครบ ก็ยังไม่ตัดสินใจ!!” เลือกแบบเครื่องบินรบ ฝูงใหม่ของกองทัพอากาศ
แม้ว่า คณะกรรมการของ ทอ.จะให้คะแนน Gripen E/F สวีเดน ชนะ F16 block 70 สหรัฐฯ แล้วนั้นยังไม่เพียงพอ
ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวลือว่า นายเศรษฐา อาจจะเห็นไม่ตรงกับ ทอ. ที่เลือก Gripen แต่ นายกฯ ดูเปิดโอกาส ให้ทาง F16 ของสหรัฐฯ เพราะนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่าได้โทรศัพท์ หาเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้รีบเสนอ เรื่อง Offset Policy มาด้วย จะได้พิจารณา แบบside by side กับของ Gripen
โดยยืนยันว่า แค่คะแนน คณะกรรมการ ทอ. ที่ให้คะแนน Gripen ชนะ F16 ไม่เพียงพอยังสรุปไม่ได้ เพราะยังไม่มี Office Policy มา โดยทั้งสองบริษัท ก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่เพราะมันไม่ใช่เงินเล็กๆน้อยๆ ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ คุ้มค่า มากที่สุด
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในส่วน ทอ. ได้เสนอรายงาน สรุปผล การให้คะแนนของคณะกรรมการ ทอ. ถึง สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และ เศรษฐา นายกรัฐมนตรี ที่คะแนนรวม Gripenชนะ F16 ในการประเมิน 7 ข้อใหญ่ และ อีกหลายข้อย่อย แต่ ไม่ได้รวม เรื่องการค้าการลงทุนตอบแทน ตามนโยบาย Offset Policy ของนายกฯ
แต่ได้รายงาน สรุปแยกมาต่างหากแล้ว เพราะเรื่อง Offset Policy จะอยู่ใน TOR : Term of requirements และ ทอ.ได้ปรึกษา กับ กรมบัญชีกลาง หมดแล้ว โดยเป็นที่รู้กันดีว่า หากเปรียบเทียบในเรื่อง Offset Policy ทางSAAB สวีเดน จะได้เปรียบกว่า สหรัฐฯ เพราะมีการลงทุน มากกว่ามูลค่าของโครงการ 1.95 หมื่นล้าน หลายเท่า
แต่ ทางกลาโหมสหรัฐฯ และLockheed Martin ผู้ผลิต F16 ก็พยายามสู้ ด้วยการออกแถลงการณ์ ครั้งแรก ยืนยันว่ามีการมีส่วนร่วมในการลงทุนอุตสาหกรรม และ Offset Opportunities สำหรับ ประเทศไทย โดยจะให้ advanced datalink upgrade to กับฝูงF16 ที่ประจำการใน ทอ. และการฝึกในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน F16 ให้ กำลังพลทอ.
โดยที่ บริษัท Lockheed Martin ไม่ได้ พูดถึงการให้เงินกู้ผ่อนระยะยาวดอกเบี้ยต่ำเพราะส่วนนี้เป็นในส่วนของ รัฐบาล และกลาโหมสหรัฐฯ ที่ทาง นายRobert F. Gordec อัครราชทูตสหรัฐฯ เป็นคนเจรจายื่นข้อเสนอเอง ในการลดดอกเบี้ยจากร้อยละ5 เหลือร้อยละ 4.5 จนที่สุดจงใจลดให้อีก อาจจะเหลือ แค่ 3.5 แต่ก็ต้องเสนอมาเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการเพราะกองทัพอากาศไม่ยึดถือตามสัญญาปากเปล่า
ไม่ใช่แค่นายกฯ ที่ดูจะยื้อการตัดสินใจเลือกแบบเครื่องบินออกไปก่อน แต่นายสุทิน ก็มีทีท่าเช่นเดียวกัน ที่สำคัญยังสั่งให้กองทัพอากาศไปคิดเพิ่มเติมมาว่า จะเหมาะใช้กับภารกิจ การใช้งานหรือไม่อย่างไรหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงอาวุธยุทโธปกรณ์ เรื่องสมรรถนะของเครื่องบิน Gripen ในการบินลาดตระเวนชายแดนหรือกรณีเกิดปัญหา โดยเฉพาะด้านเมียนมา การปฏิบัติการของ Gripen จะทำได้สั้นกว่า F 16
แต่อย่างไรก็ตาม โจทย์ของกองทัพอากาศคือ มั่นใจว่าไม่เกิดการ สู้รบ แต่ใช้ในการป้องปราม และป้องกัน รวมถึงความทันสมัยของเครื่องบิน Gripen และระบบ Network Centric รวมทั้งอิสระในเรื่องData Link เป็นสำคัญ จึงทำให้คะแนนรวมของ Gripen ชนะ F16
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องราคาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะF 16 ราคาสูงมากและไม่ยอมลดราคาแต่ใช้วิธีการให้กู้ลดดอกเบี้ย จนทำให้ KAI เกาหลีใต้ อาศัยสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและการเปิดโอกาสของรัฐบาลในการเสนอตัวสู้ ด้วยFA50 ที่ราคาถูกกว่า การบำรุงรักษาใช้งบประมาณน้อยกว่า อีกทั้งมีประจำการอยู่ในกองทัพอากาศแล้ว 6 เครื่อง ในนาม T50 ที่ สามารถอัพให้เป็นFA50 ได้ แม้ว่าทางกองทัพอากาศจะตัด FA50 ออกไปแล้ว ก็ตาม เพราะมองว่า เป็นเครื่องบินโจมตีเบา
แม้ตามหลักการ ทอ. ควรต้องมีความชอบธรรม ในการเลือกแบบเครื่องบิน แต่ทว่า อำนาจ อยู่ที่ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ต้องตัดสินใจร่วมด้วย โดย เศรษฐา ยืนยันว่า ไม่ล้วงลูก ทอ. แน่นอน เราทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ไม่ได้ไปก้าวก่าย การตัดสินใจ แต่ ต้องเข้าใจเรื่อง Offset Policy เช่นเดียวกับ สุทิน ก็ยืนยันว่าไม่แทรกแซงกองทัพอากาศแต่ในฐานะ รมว. กลาโหมก็ต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย
ท่าทีของ สุทิน และ เศรษฐา ส่งผลให้ถูกจับตามองว่า ฝ่ายการเมือง จะเลือก F 16 หรือไม่เพราะการกดดันของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอาจจะมีข้อเสนอลับ ในเรื่องระดับชาติ ระดับโลก หรือไม่
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีรายงานว่า “บิ๊กไก่” พล.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ. ทอ. ได้ปรึกษาหารือ รายงาน กับ เศรษฐา มาตลอด รวมทั้งได้พูดคุยทำความเข้าใจกับหลายฝ่าย ทั้งในรัฐบาลและนอกรัฐบาล รวมถึงฝ่ายค้าน จนมีสัญญาณที่ดี จาก เศรษฐา ว่าสนับสนุนการตัดสินใจของกองทัพอากาศ ไม่ว่าจะเลือกเครื่องบินแบบใด
แต่ก็อาจมีความกังวลว่า แม้โครงการนี้จะได้รับอนุมัติงบประมาณในปี 2568 แล้วแต่ต้องรอการชี้แจงกับคณะอนุกรรมการคุรุภัณฑ์ฯ ของสภาฯ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่อาจจะตัดงบ หรือแขวนงบฯ เหมือนเช่นที่โครงการซื้อเรือฟิเกตและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือเคยถูกแขวนมาแล้ว
ยิ่งรัฐบาลกำลังถูกจับตามองว่าพยายามจะตัดโครงการต่างๆเพื่อนำเข้าโป๊ะในงบกลาง และนำไปใช้สำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่เพิ่งเห็นได้ว่ารัฐบาลเพิ่งเสนอเพิ่มงบประมาณกว่าแสนล้านในงบประมาณปี 2567 เพื่อ นำไปใช้ในโครงการนี้โดยเฉพาะมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทอ. ยัง มองในแง่ดีว่า ท่าทีของนายเศรษฐา เวลานี้อาจจะเป็นการแสดงออก ให้สหรัฐฯ เห็นว่าไทย แคร์และให้โอกาสสหรัฐฯ แล้ว ท้ายที่สุดกองทัพอากาศ ก็ยังมั่นใจว่า รมว.กลาโหมและนายกฯทก็จะตัดสินใจเลือกตามที่คณะกรรมการได้สรุปเสนอขึ้นไป
เพราะคำตอบของกองทัพอากาศมีแค่ หนึ่งเดียวคือ Gripen เท่านั้น แต่หากไม่เป็นไปตามแผน ไม่ว่าจะถูกเปลี่ยนแบบเครื่องบิน หรือถูกแขวนงบฯ ย่อมต้องกระทบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และกองทัพอากาศ รวมถึงภาพรวมของกองทัพไปด้วยแน่นอน