ผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือนสำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัคร เบอร์ 1 คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนน 203,032 คะแนน ส่วน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ได้ 201,212 คะแนน
ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ศึกครั้งนี้ยังไม่จบ เมื่อมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นตามมาหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น เริ่มจาก พันเอกปณต เขตต์สันเทียะ และทีมกฎหมายของ พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายกอบจ.ปทุมธานีได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี มีผู้สมัครขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีคดีทุจริตก่อนสมัครเลือกตั้ง
พันเอกปณต เขตต์สันเทียะ กล่าวว่า ในนามของทีมกฎหมายเราได้ตรวจพบว่า มีผู้สมัครท่านหนึ่งขาดคุณสมบัติในการสมัครลงรับเลือกตั้งฯ ตามกฎหมายของการเลือกตั้ง เพราะว่าเคยถูกเพิกถอนหรือถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยมีคำสั่ง คสช.ที่ 35/60 โดยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และให้พ้นจากหน้าที่ออกไปโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่ว่าการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตได้มีการสอบสวนต่อโดย ปปช. ผลคดีของ ปชช. เท่าที่ทราบกันดีคือว่า ได้ชี้มูลความผิดว่า มีมูลว่าทุจริตจึงมีคำสั่ง และได้ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินคดี แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการของอัยการได้มีความเห็นแย้งเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอ
หลังจากนั้นเท่าที่ทราบคือจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง อัยการ และ ป.ป.ช. ผลที่สุด ป.ป.ช.มีความเห็นว่าควรจะสั่งฟ้องเอง จึงได้นำเรื่องส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต ในส่วนที่เรายื่นเรื่อง เราไม่ได้ฟ้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ตามที่อาจารย์ทางกฎหมายและผู้รู้กฎหมายได้ชี้ในประเด็นนั้นไว้ แต่ทีมกฎหมายของเราเห็นว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติก่อนวันที่ลงสมัคร
ในเมื่อ ปปช.ได้ชี้มูลตามความผิดข้อหาเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งกฎหมายก็เขียนไว้อยู่แล้วว่าคนที่ทุจริตขาดคุณสมบัติที่จะลง จึงมี 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1. เมื่อปี 60 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 35/60 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และ 2. มีคำสั่งชี้มูลความผิดเมื่อ 31 มีนาคม 2564 ของ ป.ป.ช. เราจึงถือว่าผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนายกอบจ. ขาดคุณสมบัติที่จะลงรับเลือกตั้ง
นอกจากนี้ยังมี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะที่ได้ส่งหนังสือถึงกกต. ให้ตรวจสอบการเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ที่ยังเป็นข่าวอยู่นั้น ในการเลือกตั้งดังกล่าว มีการร้องกล่าวหาผู้สมัครด้วย ตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิ.ย. 2567 รายละเอียด กกต. ควรทราบดีแล้วนั้น
การร้องผ่านมาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏข่าวการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่ามีผลเป็นประการใด ทั้งที่ตามพยานหลักฐานและเอกสารประกอบรวมทั้งภาพและคลิปในคำร้องดังกล่าว มีพอสมควร กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) และมาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่า
“มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ ... (3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด” มาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 69 ต้องระวางโทษจ าคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ลงหนังสือพิมพ์ หัวข้อ บิ๊กแจ๊ส ร้องคู่แข่ง ชิงนายกปทุม ทำผิดกม. งานบวชที่ทักษิณมา เข้าข่ายจัดมหรสพชัด ช่วยหาเสียง ลงข่าวไว้บางส่วนดังนี้
“เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วัฒนา วงศ์จันทร์ ผู้ประสานงานผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เนื่องจากมีผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี คาดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง โดยมี นายกิตติ์ธเนศ จันวิวัธน์เวช รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน เพื่อตรวจสอบและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป”
ข้อ 3. การร้องตามข่าวข้างต้น นั้น สนง.กกต.จว.ปทุมธานี ได้รับเอกสารคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ไว้แล้ว ตามใบรับคำร้องเลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิ.ย. 2567 โดยผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องว่า เป็นการหาเสียงที่ฝ่าฝืน มาตรา 65 (3) และ(4) และไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ข้อ 16 และ ข้อ 23 (5) รายละเอียด กกต. ควรทราบแล้วนั้น
ข้อ 4. เนื่องจากคำร้องดังกล่าวมีการกล่าวหาบุคคลหลายคนและมีข้อเท็จจริงทั้งเอกสาร ภาพถ่าย และคลิปประกอบที่ชัดเจนพอควร แต่เวลาล่วงมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวมีผลเป็นประการใด อีกทั้งคำร้องดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงบทกำหนดโทษตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งรวมโทษที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี ไว้ด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นต้องร้อง กกต. ใช้ม. 106 เข้ามาดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องครบถ้วนตามตัวบทกฎหมายและเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย
ข้อ 5. จากการค้นหาใน google พบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 ซึ่งมีการย่อสั้นไว้ว่า “ในการโฆษณาหาเสียงของจำเลยทั้งสิบสองมีการเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึง บนรถยนต์บรรทุกในขบวนรถหาเสียง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มจาวเชียงคำยืนปราศรัยอยู่บนรถยนต์บรรทุกหกล้อ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ยืนอยู่บนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อขบวนรถหาเสียงเข้าพื้นที่เลือกตั้งเขตของตน การเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึงในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นผู้สมัครกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตนเอง โดยทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงใด ๆ”
ถึงแม้จะสามารถชนะการเลือกตั้งมาได้ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาอุปสรรคที่รออยู่ก็มีไม่น้อย สุดท้ายแล้ว ต้องติดตามดูว่า นายชาญ พวงเพ็ชร์ จะสามารถเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารอย่างที่ตั้งใจไว้ หรือไม่