ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
พระนิพพานนั้นคงนิ่งอยู่เสมอ เพียงแต่ถ้าใครวิ่งเข้าหา พระนิพพานก็จะยิ่งอยู่ห่างออกไปเรื่อย ๆ
ในกุฏิหลวงพี่เกษม คือห้องโล่ง ๆ ขนาด 2 เมตรครึ่งคูณ 3 เมตร พอพ้นประตูเข้าไปก็ถึงที่นอน ที่เป็นเพียงผืนผ้าหุ้มแผ่นฟูกปูแผ่อยู่บนเสื่อกกสีซีด ๆ ผืนผ้าที่หุ้มดูเก่า ๆ แต่สะอาดพอควร เช่นเดียวกันกับหมอนและผ้าห่มที่พับวางไว้บนหมอนนั้น ที่มุมห้องตรงหัวนอนมีกล่องไม้สูงเพียงเข่า วางพระพุทธรูปหลวงพ่อโสธรหล่อด้วยกระเบื้องสีหม่น ๆ มีแจกันแก้วเก่า ๆ ใส่ดอกไม้วางไว้ซ้ายขวา ข้างหน้ามีพานสีทอง ๆ แต่น่าจะทำด้วยพลาสติค ใส่พวงมะลิร้อยที่ยังดูสดใหม่ มีกระถางและเชิงเทียนทองเหลืองปักธูปและเทียน แต่ไม่ได้จุด ฝาห้องอีกด้านมีโต๊ะเล็ก ๆ กับเก้าอี้ไม้ที่มีตามบ้านชาวบ้านทั่วไป มีโคมไฟกับกล่องใส่ปากกาดินสอวางอยู่ มองไปที่บนพื้นข้างโต๊ะก็มีหนังสือกองสูงจนพ้นขอบโต๊ะ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือธรรมะ แต่บางส่วนได้บรรจุลงในกล่องกระดาษที่วางอยู่ล่างสุด ซึ่งหลวงพี่เกษมบอกว่านั่นคือหนังสือเรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่เรียนจบเมื่อปีก่อน ที่ตั้งใจว่าจะเอาไปบริจาคให้ห้องสมุดของโรงเรียนมัธยม เผื่อว่าจะมีใครที่เรียนจบแล้วอยากไปเรียนต่ออย่างท่านบ้าง
เสียงน้ำเดือดที่นอกห้อง หลวงพี่เกษมบอกออกไปคุยกันที่หน้าห้องดีกว่า ท่านเดินไปหยิบกาน้ำนั้นมาใส่ถาดพร้อมถ้วย 2 ใบ ผมก็เดินตามท่านออกมา เรามานั่งที่ม้าหินอ่อนเล็ก ๆ ตรงระเบียงหน้ากุฏิ มองชะโงกออกไปข้ามราวระเบียงก็จะเป็นยอดชมพู่ใบดกหนา ข้างหลังคือกำแพงที่กั้นระหว่างวัดกับตลาด ผมรับถาดมาจากท่านแล้วรินลงในถ้วยที่มีใบชารองก้นไว้แล้ว ประเคนถวายท่านแล้วจึงรินให้ตัวเอง เราสนทนากันจนถึงมืด ก่อนที่ท่านจะขอตัวไปทำวัตรเย็น ในระหว่างสามชั่วโมงที่สนทนากัน จึงได้ทราบว่าท่านมาบวชทำไม และสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ในระหว่างที่บวชนี้มีอะไรบ้าง
ท่านเล่าว่าโยมพ่อกับโยมแม่เป็นคนสระแก้ว ทั้งสองคนขายของอยู่ที่ตลาดชายแดน มีฐานะดีพอสมควร เพราะปล่อยกู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนอื่น ๆ ไปด้วย ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่ชายหนึ่งพี่สาวสาม ตอนที่ท่านเป็นเด็ก สงครามเวียดนามเพิ่งจบลง แต่มาปะทุอยู่แถวชายแดน เพราะเขมรเกิดสงครามภายใน ที่เรียกว่าสงคราม “เขมรสามฝ่าย” ยิ่งผู้อพยพหนีออกมาเยอะ ตลาดชายแดนก็ยิ่งคึกคัก แต่เมื่อการสู้รบในเขมรหนักขึ้น ถึงขั้นที่เรียกว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทั้งค่ายและตลาดก็ถูกปิด กระทั่งถึงสมัยรัฐบาลชาติชาย ที่มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามค้า” ตลาดก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ถึงตอนนี้ท่านก็จบชั้นมัธยมต้นพอดี ท่านกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมปลาย โยมพ่อกับโยมแม่ก็มาเจออุบัติเหตุเสียชีวิตพร้อมกัน พี่ชายจึงได้ดูแลกิจการต่อมา ส่วนพี่สาวก็แต่งงานไปอยู่กับสามีที่จังหวัดอื่นสองคน ส่วนอีกคนหนึ่งมาเป็นสาวโรงงานแถวสมุทรปราการ ส่วนตัวท่านเองตอนแรกก็อยากจะอยู่กับพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ให้เรียนหนังสือ ให้ท่านออกมาช่วยค้าขาย แต่ด้วยความที่ท่านถูกโยมพ่อและโยมแม่เลี้ยงมาแบบตามใจ ไม่ได้ให้ทำงานหนักหรือช่วยค้าขาย จึงช่วยอะไรพี่ชายไม่ได้มาก แต่อดทนทำอยู่หลายปี พออายุได้ 20 ปีก็บอกพี่ชายว่าอยากบวช
ท่านโกหกพี่ชายว่า พ่อกับแม่มาเข้าฝันขอร้องให้ท่านบวช แต่ความจริงท่านอยากเรียนหนังสือต่อจนได้รับปริญญา พอบวชแล้วจึงบอกพี่ชายว่าจะไปจำวัดอยู่ที่จังหวัดอื่น โดยท่านได้ตามหลวงลุงรูปหนึ่งที่วัดที่ท่านบวชออกธุดงค์ แรก ๆ ก็คิดว่าจะได้ “เปิดหูเปิดตา” ได้ไปเที่ยวในจังหวัดอื่น ๆ บ้าง จากปีเป็นสองปี จนกระทั่งปีที่สาม หลวงลุงพาเปลี่ยนวัดไปเรื่อย ๆ ท่านเองก็ตื่นตาตื่นใจกับจังหวัดต่าง ๆ ที่ธุดงค์ไป ทางภาคเหนือบ้าง ภาคกลางบ้าง จนลืมเรื่องเรียนต่อเสียสนิท จนมาที่วัดบนภูเขาแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ที่แปลกกว่าที่อื่นมาก ไม่ใช่เพราะความยากแค้นกันดาร ที่วัดนี้อยู่ค่อนข้างห่างไกลผู้คน แต่วัดนี้ไม่ต้อนรับญาติโยม ถ้าญาติโยมอยากจะพบ “หลวงปู่” ท่านจะลงไปพบกับชาวบ้านเอง ซึ่งปีหนึ่งจะลงจากภูเขาไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งหนึ่ง ๆ ก็เพียง 2-3 วัน ซึ่งที่นี่นี่เองที่ได้เปลี่ยนชีวิตของหลวงพี่เกษมโดยสิ้นเชิง
ไม่รู้ว่าจะเป็นบุญของท่านหรือไม่ เพราะในช่วงที่ไปจำวัดที่วัดนี้ เณรที่เคยอยู่ปรนนิบัติหลวงปู่ได้ลาสิกขาลงไปอยู่ที่หมู่บ้านข้างล่าง หลวงลุงเลยส่งท่านไปนอนอยู่หน้ากุฏิ เพื่อคอยฟังว่าหลวงปู่จะให้ช่วยทำอะไรบ้าง แรก ๆ หลวงปู่ก็ไม่ได้เรียกใช้อะไร ต่อมาก็ให้ช่วยต้มน้ำดื่มน้ำกิน จนถึงบอกให้เข้าไปในป่า ไปเก็บลูกไม้และผักป่า โดยบอกให้ท่านอย่าเก็บมาให้หมด ให้เหลือไว้บ้างอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง หลวงปู่บอกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในป่านี้หรือในโลกนี้ ถ้าเรายังต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ แม้กระทั่งต้นไม้ในป่านี้ ก็ต้องแบ่งปันและช่วยเหลือกัน ตลอดจน “รักษา” กันและกันไว้
หลวงพี่เกษมอยู่ปรนนิบัติหลวงปู่อยู่หลายเดือน อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมท่านไม่ลงไปอยู่กับชาวบ้าน เพราะที่วัดข้างล่างนั้นสะดวกสบายกว่ามาก และจะได้ช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก ๆ เพราะฟังจากเสียงชาวบ้านทุกคนก็เรียกร้องว่า ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านแล้วจะได้บุญมาก หลายคนเชื่อว่าถ้าได้ใกล้ชิดท่านก็เหมือนได้อยู่ใกล้สวรรค์ ซึ่งคำตอบของหลวงปู่ทำเอาหลวงพี่เกษมจดจำมาถึงบัดนี้ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านไม่คิดที่จะละจากเพศบรรพชิตนั้นอีกเลย
“ยิ่งฉันไปอยู่กับชาวบ้านนั้นแหละ ชาวบ้านก็จะยิ่งอยู่ไกลสวรรค์
ฉันมาบวชนี่ก็เพื่อสำเร็จมรรคผลนิพพาน ชาวบ้านนั้นเรียกร้องกันมากเหลือเกิน จนฉันช่วยไม่ไหว ทั้งขอหวย ขอลูก ขอโชค ขอให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งฉันช่วยไม่ได้ ชาวบ้านคิดไปเอง ก็ด้วยพลังใจและความอดทนของชาวบ้านเองนั่นแหละที่จะช่วยตัวเขา ทุกคนต้องอดทนทำมาหากิน ช่วยตัวเอง ช่วยกันเอง แล้วโชควาสนาก็จะมาเอง โรคภัยไข้เจ็บก็ต้องดูแลรักษากัน ไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล มาหาพระก็มีแต่น้ำหมาก ชานหมาก จะช่วยอะไรได้ ด้วยกำลังกายและกำลังใจของพวกเขาเองเท่านั้น
ฉันบวชมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ เหมือนเธอ กว่าจะมาคิดออกคิดได้ ก็จากที่เห็นชาวบ้านมาเรียกร้องอยู่ทุกวันนี่แหละ ถ้าฉันยังไม่คิดเองทำเองหาเอง ฉันก็ไม่ได้อะไร ไปไม่ถึงไหน และยิ่งฉันอยู่กับชาวบ้าน ก็ยิ่งพาเขาอยู่ใกล้นรกนั้นมากกว่า นรกที่มีแต่เสียงร้องโหยหวน เสียงของความทุกข์ยากเดือดร้อน
ฉันจะลงไปปีละสัก 3 ครั้ง ไปรับน้ำสงกรานต์จากชาวบ้าน ที่ชาวบ้านคิดว่าพวกเขาจะได้มีบุญมีสุขไปตลอดปี ไปรับเทียนหลวงเข้าพรรษา อันนี้เป็นราชการที่ทุกวัดอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และไปรับของกินมาเก็บไว้วัดตอนวันสารท แค่นั้นก็พอ เพียงพอที่จะไว้ยังชีวิต และทำกิจทั่วไปของสงฆ์ให้เรียบร้อย
ที่เหลือคือเพื่อมรรคผลนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า รู้ด้วยตน ทำด้วยตน และสำเร็จด้วยตน
เราไม่ได้หนีชาวบ้าน แต่เราหนีจากวัฏสงสาร โดยหวังว่าพระนิพพานนั้นจะอยู่ไม่ไกลนัก”