ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“....สถานะและบทบาทแห่งการมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีฐานรากเชิงความคิดและปฏิบัติไว้ค้ำจุนต่อการแก้ไขในอุปสรรคนานา...ที่จะมาสร้างความเสื่อมทรุดให้เกิดขึ้นแก่จิตวิญญาณที่มีคุณค่าของชีวิตเรา..

เหตุนี้...จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่การเรียนรู้ในทุกวันนี้ จักต้องมีการสืบค้นถึงหลักการแห่งการพัฒนาความหมายแห่งความมีและความเป็น ในเนื้อในแห่งโครงสร้างของชีวิต ด้วยมิติแห่ง..ความคิด จิตใจ และ อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าชีวิตจะพานพบกับสิ่งที่ย่ำแย่หรือล้ำเลิศก็ตาม เราจึงสมควรที่จักต้องประจักษ์ในทุกสภาวะไม่ว่าจะดีหรือร้าย..นั่นคือวิถีลีลาแห่งการใช้ศิลปะในชีวิตเพื่อขุดค้นถึงรากเหง้าแห่งความเป็นไปของชีวิต ด้วยสัญชาตญาณจากการเรียนรู้ และด้วยประสบการณ์ของการหยั่งคิดและปฏิบัติ ที่ไม่อาจตัดขาดออกไปจากชีวิตได้

รูปรอยอันชวนตระหนักรู้อย่างจริงจังนี้ นับเป็นศิลปะแห่งการหยั่งเห็นของชีวิต กระทั่งสามารถนำไปปลูกสร้างวิถีแห่งคุณความดีโดยไม่อาจปฏิเสธได้..ในที่สุด...โครงสร้างทางสำนึกคิดเบื้องต้น เป็นปรากฏการณ์สำคัญแห่งหนังสือ...ที่อธิบายถึง “ศิลปะของการมีชีวิตที่ดี

"The Art of Good Life"..งานเขียนสร้างสรรค์เพื่อความคิดและการปฏิบัติที่ล้ำสมัยของ “รอฟท์ โดเบลลี่” (Roft Dobelli) ผู้สำเร็จปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัย เซ็นต์กัลเลน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “getAbstract” ..บริษัทที่ทำหน้าที่สรุปเนื้อหาของวรรณกรรมในแต่ละเรื่อง..และยังเคยเป็นบอสของบริษัทในเครือสวิสแอร์...กระทั่งมาเป็นนักเขียนเชิงความคิดแห่งการกระตุ้นเร้าชีวิตที่ขายดี..เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก..

“ไม่ต้องฟังเสียงในใจคุณ...จงเก็บออมอิสรภาพให้มากกว่าเงิน” ว่ากันว่า..ในห้วงระยะเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้สร้างโลกใบนี้ด้วยความสลับซับซ้อน จนยากจะตีความเพื่อเข้าใจในความหมายของมัน..ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหารองค์กร นักลงทุน นักวิชาการ แพทย์ นักข่าว ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์  นักการเมืองและคนทั่วไป จึงต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ที่ทำให้ชีวิตต้องพบกับอุปสรรค และดำเนินไปข้างหน้าอย่างยากลำบาก แต่สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือชุดเครื่องมือทางความคิดและรูปแบบทางความคิด..ที่ใช้ได้ผลอย่างแน่นอน ซึ่งเราอาจเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า.. “ระบบปฏิบัติการสำหรับชีวิต” เหตุนี้..ชีวิตคนเราจึงเหมือนกับการบังคับรถยนต์หรือเครื่องบิน ด้วยความที่อยากให้มันดำเนินไปตามแผนและสามารถมองเห็นเส้นทางล่วงหน้า..และไม่ติดขัด แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น...

เหตุนี้...จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อม เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า ด้วยการเริ่มต้นอย่างดีที่สุด..ทั้งด้านการศึกษา อาชีพการงาน ชีวิตรัก หรือ ครอบครัว..โดยตั้งความหวังว่า จะไปให้ถึงเป้าหมายตามที่ได้วาดฝันไว้อย่างง่ายดาย แต่เราก็รู้ดีว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ชีวิตมักพบเจอกับอุปสรรคและความปั่นป่วนอยู่เสมอ ด้วยการประเมินค่าความพร้อมไว้สูงเกินไป และประเมินค่าของการปรับแก้..ไว้ต่ำเกินไป.. “แผนการมีข้อผิดพลาด กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การกำหนดแผนการใหม่ที่ตายตัว..แต่เป็นการวางแผนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า..!”

“รอฟท์” ..ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าใคร่ครวญของศิลปะแห่งชีวิตที่น่าประพฤติปฏิบัติว่า..ไม่มีใครเข้าใจโลกนี้ได้อย่างสมบูรณ์หรอก  เพราะมันมีความสลับซับซ้อนเกินไป ต่อสมองของมนุษย์คนหนึ่งแม้จะมีการศึกษาสูงก็ตาม แต่สิ่งที่เรียนรู้และเข้าใจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของโลก ใบนี้ ..แต่พื้นที่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ..ที่จะส่งให้ชีวิตบินขึ้นไปคว้าความฝันอันสูงลิ่วได้..ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเลย ก็ไม่มีทางที่จะบินขึ้นไปจากพื้นดินได้.. “การดำเนินชีวิตของเราจึงต้องรู้จักขอบเขตแห่งความสามารถของตนเองและยึดมั่นในพื้นที่นี้”

ดังนั้นจึงควรใช้แนวคิดนี้ในการจัดระบบ ความคิดการทำงาน..เพราะการที่ชีวิตจดจ่ออยู่กับความสามารถ มันจะมอบพลังแห่งผลลัพธ์ ที่นอกเหนือจากเงินทองให้ด้วย โดยสิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ..ผลตอบแทนทางด้านอารมณ์ความรู้สึก.. “เวลาหนึ่งชั่วโมงที่เราทุ่มเทให้กับขอบเขตความสามารถของตนเอง ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ให้ได้มากกว่าเวลานับพันชั่วโมงที่ได้ให้และใช้ไปกับสิ่งอื่นๆ...” มีความคิดเชิงข้อเปรียบเทียบประเด็นหนึ่ง ซึ่งน่าพินิจพิเคราะห์ถึงรากฐานของความจริงและความหมายว่ามันคืออะไรกันแน่.. “รอฟท์” ได้แสดงนัยความคิดออกมาในประเด็นที่ว่า.... “ทำไมการไม่มีความคิดเห็นจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า”...มันเปรียบดั่ง “ภูเขาไฟแห่งความเห็น” ที่เเสดงถึง..สมองของมนุษย์ที่เปรียบดั่งภูเขาไฟแห่งความคิดเห็น..ที่พรั่งพรูเอามิติแห่งความคิดเห็นต่างๆนานาออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน..ไม่ว่าคำถามนั้นจะสำคัญหรือไม่สำคัญหรือมีคำตอบที่แท้จริงหรือไม่..จะเป็นคำตอบที่ซับซ้อนหรือง่ายดายก็ตาม ตัวสมองก็จะพ่นคำตอบออกมามากมายราวกับภูเขาไฟพ่นลาวา ซึ่งก็นำไปสู่ข้อผิดพลาดในสามประการ..อันได้แก่..การแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ไม่น่าสนใจ/การแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ไม่มีคำตอบ/และ การแสดงความคิดเห็นที่รีบร้อนเกินไป ต่อประเด็นข้อสงสัยและข้อคำถามต่างๆ ซึ่งเป็นความเสียหายขั้นสูงสุด..

คนเรานั้นพร้อมจะกระโจนเข้าสู่การเลือกฝั่งโดยทันที ยิ่งเมื่อสถานการณ์นั้นๆย่างเข้าสู่ความซับซ้อน...โดยหลังจากนี้สมองส่วนเหตุผลก็จะแสวงหาเหตุผลมารองรับ แล้วจากนั้นก็จะสนับสนุนแนวความคิดนี้ จนกระทั่งปรากฏเป็นความเชื่อต่อความรู้สึกแรก ซึ่งก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉาบฉวย มันตื้นเขินและมีเพียงสองขั้วคือบวกกับลบ...พูดง่ายๆก็มีแค่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น..

"..ความคิดเห็นที่ไม่ถี่ถ้วนพอ จะนำไปสู่การตัดสินใจที่แย่ๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างรวดเร็ว..เพื่อจะทำให้เกิดความรู้สึกอันสุขสงบและผ่อนคลายยิ่งขึ้น..เมื่อไม่ต้องพะวงกับการแสดงความคิดเห็น..ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็น “ชีวิต “ที่ดี..”

อย่างไรก็ตามชีวิตของมนุษย์เรามักจะเลี่ยงไม่พ้น “กับดักของอุดมการณ์” โดยเฉพาะในกรณีที่ “ทำไมคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ถึงมองสิ่งต่างๆง่ายเกินไป..?” นั่นก็เพราะคนเรามักคิดกันว่า..ตัวเองเข้าใจสิ่งต่างๆมากพอ แต่ครั้นเมื่อต้องอธิบายออกมา ถึงได้ตระหนักว่า ..ความรู้ยังมีช่องโหว่อีกมากมาย...ตัวเราเข้าใจ ความเชื่อที่ว่า “เข้าใจบางอย่างดีกว่าความเป็นจริง”

ดั่งนี้..มันจึงคือภาพลวงตาที่ว่าด้วยความรู้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ใช้ทางลัดอันสะดวกสบาย ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง..นั่นคือ..แทนที่จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือกลับไปขอรับความคิดเห็นจากกลุ่มคนรอบตัว ความคิดเห็นจึงตั้งอยู่บนความเป็นจริง ถ้อยคำที่คิด เพราะมันเป็นสิ่งที่รับมาจากความจริงแห่งชุมชนของความรู้..

เมื่อความโน้มเอียงจะทำตามความคิดเห็นของกลุ่ม ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องส่วนตัว แต่ยังไปถึงโลกทัศน์ด้วย มันจะนำไปสู่หายนะได้ และจากจุดนี้เองที่อุดมการณ์เข้ามามีบทบาท “อุดมการณ์..คือแนวคิดที่มีพลังมหาศาล ซึ่งมาพร้อมกับความคิดเห็นชุดหนึ่ง..” จงหลีกเลี่ยงอุดมการณ์และความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ โดยเฉพาะในกรณีที่รู้สึกเห็นแย้ง..กับมัน..อุดมการณ์เป็นสิ่งที่แย่ มันทำให้โลกทัศน์แคบลงและผลักดันให้มีการตัดสินใจที่เลวร้าย..จะรู้อย่างไรได้ว่าสิ่งนั้นคืออุดมการณ์ สามารถสังเกตเห็นได้จากสัญญาณ 3 ข้อต่อไปนี้..

“มันอธิบายทุกอย่างได้/มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจโต้แย้งได้/และ มันฟังดูคลุมเครือ..ว่ากันว่า..หากมองในแวบแรก ไม่มีสิ่งใดที่ดูเหมือนจะโต้แย้งได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อดี แต่ทว่า..แท้จริงแล้ว ทฤษฎีที่ไม่มีสิ่งใดโต้แย้งได้นั้นหาได้แข็งแกร่งแต่อย่างใดไม่ และสามารถทำลายมันได้ง่ายมาก อุดมการณ์มักปักหมุดอยู่เบื้องหลังม่านควันแห่งความคลุมเครือ

“จงยึดติดตนเอง อย่าศรัทธาในความคิดของกลุ่มมากจนเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใดนั้นก็คือกับดักของอุดมการณ์..จงหลีกหนีให้ไกลจากความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์” ไม่เพราะ..ยิ่งตระหนักได้เร็วเท่าไหร่ว่าตัวเองไม่เข้าใจโลก..ก็จะยิ่งเข้าใจโลกได้อย่างลึกซึ้งมากเท่านั้น..”

ท้ายที่สุด..เราก็สามารถสรุปหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างถ่องแท้...เป็นความสำเร็จอันแท้จริงที่มีใจเป็นเครื่องรองรับ..กล่าวคือ ..ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น เป็นหนึ่งในแนวคิดแบบตะวันตก โดยมันไม่ได้เกิดขึ้น จากการจุดธูปหอมบูชา การใคร่ครวญด้วยตัวเอง หรือการเล่นโยคะ..ความสำเร็จในโลกภายใน คือสิ่งที่นักปรัชญาชาวกรีกและโรมันเรียกกันว่า “ภาวะแห่งความเป็นสันติ”..เมื่อบรรลุภาวะนี้แล้วย่อมหมายถึงภาวะการเข้าสู่..ความสงบทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะทำให้สามารถวางเฉยได้ ไม่ว่าโชคชะตาจะโหดร้ายเพียงใด พูดง่ายๆก็คือ"ความสำเร็จหมายถึงจิตใจอันเยือกเย็น. ไม่ว่าจะบินขึ้นสูงเสียดฟ้า หรือจะล่วงลงมาสู่ผืนดิน..ทั้งหมดก็จะสร้างความสำเร็จแก่โลกภายในได้”

นี่คือความนัย..ปิดท้ายห้าสิบสองประเด็นแห่ง “The Art of the Good Life” (ศิลปะของการมีชีวิตที่ดี)..จากปริศนาที่ว่า “ทำไมสิ่งที่เลือกที่จะจดจ่อ ถึงสำคัญกว่าพรสวรรค์..เนื่องเพราะ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงไหน  ก็มีการจัดอันดับการทั้งนั้น แต่เรื่องราวแห่งความสำเร็จเหล่านี้ สะท้อนถึงความสำเร็จที่แท้จริงได้มากแค่ไหน?..คำตอบก็คือว่า มันขึ้นอยู่กับนิยามของความสำเร็จว่าเป็นอย่างไร? สังคมสามารถควบคุมได้ว่า ผู้คนใช้เวลาของพวกเขาไปกับสิ่งใด ด้วยการกำหนดวัดชีวิตความสำเร็จและเกียรติยศ..

“ทำไมสังคมคนยุคใหม่ ถึงพยายามที่จะชักจูงให้ผู้คน..อย่างเวลาในการพักผ่อนหย่อนใจที่มากขึ้น ทำไมถึงได้จัดอันดับคนที่รวยที่สุด แต่ไม่จัดอันดับคนที่มีความสุขที่สุด..คำตอบจึงคือว่า ..เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ..สังคมจึงอยู่ร่วมกันได้..ในที่สุด”

“Raft Dobelli” เขียนหนังสือเล่มนี้สู่การเป็นทางลัดของ “การเป็นชีวิตที่ดี”..หลังจากที่เคยเขียนหนังสือ “ศิลปะแห่งการคิดที่ชัดเจน” (The Art of Thinking Clearly) ที่ได้สร้างคุณค่าต่อชีวิตมากมายมาแล้ว/ทางลัดดังกล่าวประกอบด้วย ห้าวิธีดังนี้..

* สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตที่ดีของเรานั้น คือการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในทางสร้างสรรค์.. “ชีวิตมีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น..แต่เราสามารถเลือกได้ว่า..จะตีความมันอย่างไร?” ..เหตุนี้..เราจะไม่เสียเวลาคิดมากกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง.. *ชีวิตเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ต่างจากความเป็นเครื่องบิน ที่ตกอยู่ท่ามกลางพายุฟ้าคะนอง/และต่อให้ ตอนนี้ เรารู้สึกว่ากำลังมีชีวิตที่ดีอยู่ มันก็หาใช่สถานะที่คงอยู่ถาวรแต่อย่างใดไม่..เพราะฉะนั้น “ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง ก็ต้องคอยปรับเปลี่ยนแผนที่วางไว้..อยู่เสมอ..” *ว่ากันว่า..บนเครื่องบินมีกล่องดำที่ทำลายทิ้งไม่ได้ เพราะมันได้บันทึกเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห้องนักบินไว้ .เพื่อนำมาวิเคราะห์เมื่อมีสิ่งที่ผิดพลาดเกิดขึ้น “ชีวิตเรา จึงสมควรบันทึกสิ่งที่คิดก่อนการตัดสินใจครั้งใหญ่ และย้อนมาวิเคราะห์หากการตัดสินใจนั้นผิดพลาด” การทำแบบนี้..คือการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ..แท้จริง! *ทุกวันนี้ เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยี ที่ดูเหมือนจะช่วยให้เราประหยัดเวลาชีวิตได้มากขึ้น แต่ถ้าหากเราได้มองดูดีๆอีกครั้ง/หากมีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นเช่น “power Point” ซึ่งช่วยทำให้เราทำสไลด์ได้อย่างสะดวกสบาย/แต่บางทีเราอาจจะสื่อด้วยวิธีอื่นที่เรียบง่ายและสะดวกสบายกว่า “เทคโนโลยีนั้น ก่อนที่จะหยิบมาใช้ เราจะต้องทำ “Full Cost Analysis” ก่อนว่ามันสามารถช่วยชีวิตของเราได้จริงหรือเปล่า..?”

*การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี แต่มันก็..ทำเสียแรงและเสียเวลาไปด้วย การปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่ไม่สำคัญ จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น..ลองเริ่มใช้กฎที่ว่า “ถ้าเราไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้ภายในห้าวินาที..ก็ให้เราตอบปฏิเสธไป..! “วิภาดา พินทุวชิราภรณ์” แปลและถ่ายทอดความ..หนังสือเล่มนี้ออก ผ่านการตีความที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความจริงจังและหนักแน่นของเรื่องดำรงอยู่ในเชิงประจักษ์..ในองค์ประกอบของต้นฉบับ และความเป็นชีวิต ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่พร้อมจะพลิกผันและสลับซับซ้อน..ของวันนี้! “องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชีวิต ก็คือการหลีกเลี่ยงการมีอยู่ ของสิ่งที่โง่เขลา ตื้นเขิน และ ไม่มีคุณค่าที่ยั่งยืน..หาใช่การพยายามไปไขว่คว้าความสุขอันยิ่งใหญ่..

...เหตุนี้..สิ่งที่ทำให้ชีวิตยอดเยี่ยมนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเข้าไป...แต่เป็นสิ่งที่กำจัดออกไปจากชีวิตต่างหาก.."