จังหวัดอ่างทอง ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ” บริเวณพื้นที่บึงสำเภาลอย ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง 

      วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ บึงสำเภาลอย ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง มอบหมายให้นายศักดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาบึงสำเภาลอย ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดอ่างทอง โดยมี นายรักศักดิ์ เทียนไชย นายอำเภอป่าโมก นายศราวุธ พันธุ์สังวร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอ่างทอง นายจาริก ฤทธิ์กระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ตำบลโรงช้าง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาพื้นที่ ปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้านเรือนประชาชนโดยรอบบึงสำเภาลอย และปล่อยพันธุ์ปลาเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ 

      สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอ่างทอง ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยกำหนดให้มีการพัฒนา แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมของชุมชน ศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรม บริเวณที่ 2 เป็นพื้นที่สร้างศูนย์เรียนรู้พรรณพืชพื้นถิ่น และบริเวณที่ 3 เป็นพื้นที่การเรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือและบูรณาการงบประมาณ เครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ จากอำเภอป่าโมก องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง สำนักงานประมงจังหวัดอ่างทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน พร้อมด้วยจิตอาสาและภาคีเครือข่าย เมื่อมีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ตามที่ออกแบบวางผังไว้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 220,800 ลูกบาศก์เมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ 717 ครัวเรือน ได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก และพื้นที่ข้างเคียง โดยมีพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าชุมชน ได้รับประโยชน์ รวมกว่า 1,644 ไร่ 

      ในการนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้ง 5 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ สำหรับโครงการการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ภายใต้แนวคิด "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better life" ต่อไป