ปดิพัทธ์ ยันไม่กังวลศาลฯ นัดชี้ชะตาพรรคก้าวไกล มั่นใจสส.พรรคแจงข้อกล่าวหามีน้ำหนักพอ "อนุทิน"เผย"วัน อยู่บำรุง" มีพรรคสังกัดแล้ว แต่ไม่ใช่ภูมิใจไทย พ้อคนกรุงไม่ให้โอกาสพรรคทำงาน หลังโพลสำรวจชื่อรั้งบ๊วย ขณะที่วัน ปฏิเสธได้พรรคสังกัดแล้ว บอกไม่รีบร้อน ขอทำงานดูแลเอฟซีในพื้นที่ก่อน
  
 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.67  นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดหมายวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า ขอให้ความเห็นในฐานะรองประธานสภาฯ การยุบพรรคการเมืองเป็นการทำลายเจตนารมย์ของประชาชน และทำให้สถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศใดก็ตามที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการยุบพรรคฝ่ายค้าน จะทำให้กลไกการตรวจสอบรัฐบาล กลไกที่รักษาสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนก็จะบกพร่องไปด้วย 
      
 ผมจึงกังวลว่าหน้าตาของสภาฯจะเป็นอย่างไรหากพรรคก้าวไกลถูกยุบ การตรวจสอบสมดุลฝ่ายบริหาร  และฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นอย่างไร ซึ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ในประเทศ เราจะต้องชี้แจงกับสภานานาชาติ ( Inter Parliament Union ) ให้ได้ ซึ่งเพื่อนสมาชิกสภาฯหลายประเทศก็กังวลในเรื่องนี้ ผมเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ผมยังคงมั่นใจในอดีตเพื่อนพรรคก้าวไกลว่ามีน้ำหนักมากพอโดยเฉพาะเรื่องคำร้องของ กกต. ซึ่งวิญญูชน  สื่อมวลชน นักวิชาการต่างๆ ก็คงมีคำวินิจฉัยของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 7 ส.ค. ผมก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องกังวล นายปดิพัทธ์ กล่าว
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า เสียดายตำแหน่งรองประธานสภาฯ  นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่าความตั้งใจตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนได้ทำเกือบทุกข้อแล้ว ตอนนี้ก็เหลือเรื่องที่อาจจะต้องใช้เวลา อย่างเช่นการปฏิรูปโครงสร้างของรัฐสภาที่ปลายปีนี้จะมีโครงสร้างใหม่ อะไรที่ซ้ำซ้อนระหว่างสภาฯ และวุฒิสภาก็จะถูกตัดออกไป  รวมทั้งโครงการที่ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ และโครงการอื่นๆ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็คงต้องอยู่ในความเป็นผู้นำของหัวหน้าองค์กรในอนาคต
    
 เมื่อถามว่า โควตาของรองประธานสภาฯเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลก็มีเสียงข้างมากในสภาฯ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอน ตำแหน่งรองประธานสภาฯจะต้องเป็นส.ส. เมื่อตนถูกตัดสิทธิ์ตำแหน่งก็จะต้องยุติลง แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การตัดสินใจของสภาฯ ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีการกระบวนการสรรหาถูกต้อง
    
 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายวัน อยู่บำรุง อดีต ส.ส.กทม. ระบุนายอนุทินเป็นหนึ่งในบุคคลที่รักและเคารพ โดย นายอนุทิน อุทานว่า "โอ้โห ผมรู้จักกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายวัน มานาน หากเปรียบแล้วก็เหมือนญาติกัน เป็นห่วงเป็นใยกัน แม้จะมีหยิกนิดหยิกหน่อย ตอดเล็กตอดน้อย ก็ถือเป็นสีสัน แต่เจอกันเมื่อไหร่ ก็จะวิ่งอ้าแขนแบบสโลว์โมชั่นเข้ามา เป็นสุดที่รักกันทั้งนั้น"
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสจะรับนายวันเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  ตนได้ข่าวนายวันได้ไปสมัครสมาชิกอีกพรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่รู้พรรคใดให้ไปถามเจ้าตัวเอง เพราะหากนายวันยังไม่พูด ตนก็จะไปพูดไม่ได้ พร้อมกล่าวยอมรับว่า พรรคภูมิใจไทยในกรุงเทพฯ ไม่แข็งแรง ขออยู่เป็นบ้านนอกแบบนี้ดีกว่า ถึงแม้จะพยายามแจ้งเกิดในกรุงเทพฯ แต่คนในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ให้โอกาสพรรคภูมิใจไทย ซึ่งผ่านมา 2-3 ครั้ง เราต้องรู้ตัวเอง
    
 เมื่อถามว่า รอบหน้าพรรคภูมิใจไทยจะไม่เล่นเวที ส.ส.ในเขตกรุงเทพฯ แล้วใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูก่อน เพราะการที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ พรรคต้องมั่นใจก่อน แต่รู้สึกว่ากระแสหากในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมี เพราะเห็นจากโพลที่ผ่านมา "ที่ชื่อนายอนุทินไปอยู่บ๊วยตลอด เราต้องเจียมเนื้อเจียมตัว"
    
 เมื่อถามอีกว่า พรรคที่นายวันไปสังกัดอยู่ เป็นหนึ่งในพรรคเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ บอกใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รู้ เพราะตอนลาออกก็ไม่ได้บอกตน แต่เคยโทรมาหา และบอกว่านายวันอาจจะได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย ตนจะโอเคหรือไม่ ตนก็ได้ตอบกลับนายวันว่า โอเคอยู่แล้ว เพราะนายวันเป็นบุคคลที่มีความสามารถ และด้วยความสัมพันธ์และความเคารพที่ตนมี กับร.ต.อ.เฉลิม อีกทั้งนายวันก็เคยเป็นเลขานุการของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของตน
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล นายอนุทินได้บอกกับสื่อมวลชนว่า หากนายวันจะมาเป็นสมาชิกพรรคก็ต้องโทรมาบอกตน แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งไปคิด เรื่องยังไม่เกิด
    
 ด้าน  นายวัน อยู่บำรุง อดีตส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี ายอนุทินระบุมีพรรคการเมืองสังกัดแล้ว ว่า ตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนติดต่อเข้ามา แต่ยืนยันไม่หยุดการเมืองแน่นอนเพราะตระกูลอยู่บำรุงเป็นตระกูลการเมืองที่ทำงานรับใช้ประชาชนมาอย่างยาวนาน ตอนนี้ตนเหมือนนักการเมืองฟรีเอเยนต์ ยังไม่รีบร้อนอะไรเพราะการเมืองกว่าจะมีการเลือกตั้งอีกนานก็คอยดูไปก่อน ตอนนี้ตนก็ยังทำงานการเมืองรับใช้ประชาชนเหมือนเดิม มีประชาชนร้องทุกข์เข้ามาทุกวัน อะไรประสานช่วยเหลือได้ตนก็ยังช่วยอยู่เหมือนเดิม รวมถึงยังมีครอบครัวใจถึงพึ่งได้ ที่รวมตัวกันสร้างความดีช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่มีการรวมตัวกันแทบทุกจังหวัด เราหยุดไปช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ที่เขาห้ามขยับ แต่ตอนนี้ก็กลับมาทำงานช่วยเหลือประชาชนเหมือนเดิมแล้ว
     
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 12 คน อาทิ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ,น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ และน.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยมี น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในโฆษกคณะ กมธ.เป็นผู้รับ
       
     น.ส.พูนสุข เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนต่อสภาฯ แล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา ขณะที่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้ง กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้าย ที่ กมธ.นิรโทษกรรมฯ จะมีผลของการศึกษาพิจารณา ว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่เรามีข้อกังวลว่า เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กมธ.นิรโทษกรรมฯ มีมติว่าจะไม่มีมติ ที่จะรวมเอาความผิดในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 แต่ให้เป็นความเห็นของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ละคน
    
 ด้าน น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กล่าวถึงผลเสียของมาตรา 112 ต่อประชาชน และนิสิตนักศึกษา ว่า เป็นกฎหมายที่ห้ามหมิ่นประมาทแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ ซึ่งมีข้อกังวล 5 ประเด็น ดังนี้ 1.การตีความกฎหมายมาตรา 112 มาถูกวิจารณ์ว่ากว้างขวางและครอบคลุมเกินไปส่งผลให้การแสดงออก ที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท กลับถูกดำเนินคดีไปด้วย 2.การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในทางการเมือง ถูกวิจารณ์ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ 3.การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บ่อยครั้งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน 4.ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล 5.มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ว่าการใช้มาตรา 112 ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม
    
 นายธัชพงษ์ แกดำ ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กล่าวว่า เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาดได้ การนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือต่างๆ รวมถึงนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายทศวรรษ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา หรือว่ามีความปรารถนาดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองเสื้อแดง รุ่นพ่อรุ่นแม่จนกระทั่งรุ่นลูกรุ่นหลานและเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ ต้องลี้ภัย หรือบางคนที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร
     
นายธัชพงษ์ กล่าวอีกว่า การให้อภัยและสร้างความมุ่งหมายร่วมมือในการนิรโทษกรรมประชาชนคือหัวใจสำคัญ ไม่ใช่แค่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ ความเชื่อใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นประตูที่จะบอกว่าประเทศเราพร้อมก้าวไปข้างหน้าได้ หากเริ่มการพูดคุยกันด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน แต่สภาฯ กลับปิดโอกาสนี้ เราจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดไป
    
 ส่วน น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐบาลอยากให้จบลง ก็จะไม่มีวันจบ ความขัดแย้งจะไม่ได้จบลงเพียงเพราะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ต้องให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย และใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน เรื่องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หากรัฐบาลและคณะกรรมาธิการฯ ไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้เลย เท่ากับว่าผลักดันเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยกันบนถนน และผลักภาระให้พี่น้องประชาชนไปโดยปริยาย ในเมื่อตอนนี้เราได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ควรจริงจังกับการคืนความปกติให้เรื่องนี้เสียที
   
  ขณะที่ น.ส.ณัฐนิช กล่าวว่า ล่าสุดมีคนเสียชีวิตเพราะกฎหมายมาตรา 112 แล้ว คือ น.ส.เนติพร เสน่สังคม หรือบุ้ง กฎหมายนี้ก็เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกฎหมายใด จึงไม่มีเหตุให้นิรโทษกรรมไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีเวลาถกเถียงว่า จะรวมหรือไม่รวม แต่ควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของเพื่อนๆ เราอีก
       
     น.ส.ทานตะวัน กล่าวว่า มันมีคนเจ็บปวดจริงๆ จากมาตรา 112 มีคนตายจริงๆ และคนตายทั้งเป็นอยู่ในตอนนี้ เช่น กรณีของน.ส.เนติพร แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะสามารถฟื้นคืนชีวิตพวกเขากลับมาให้เราได้ แต่อย่างน้อยๆ คุณก็มีอำนาจที่จะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับเขาได้ และแม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ได้ลดลงเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ คุณมีอำนาจตรงนั้นอยู่แล้ว และที่สำคัญคือถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน
   
  น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ผ่านมา 6 เดือนแล้ว สำหรับการพิจารณาของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงก็จะลงมติกันหรือไม่ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสีย ซึ่งสามารถติดตามเหตุผลของแต่ละท่านได้ในบันทึกการประชุม โดยวันนี้ ก็จะให้ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ที่เหลือได้แสดงความเห็น และสิ่งสำคัญคือ ทุกเสียงควรต้องได้รับฟัง ว่ามีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังมีความเห็นตรงหรือต่างกับ กมธ.นิรโทษกรรมฯ บางท่าน หวังว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของประชาชน จะสามารถส่งเสียงไปยัง กมธ.นิรโทษกรรมฯ ทุกท่านได้อย่างจริงๆ ทั้งนี้รายงานเรื่องนี้ จะไม่ใช่แค่ digital foorprint แต่จะเป็น paper footprint ด้วย ว่า กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ละท่านมีความเห็นในช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองเป็นเช่นนี้อย่างไรบ้าง