เมื่อวันที่ 18 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาทิ ร้อยตำรวจเอก นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย, นายวิทยา พานิชพงศ์, นายคมสัน ศรีวนิชย์, ผศ.ดร.ปารีณา ศรีนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ รวมทั้ง นางธารินี แสงสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี รักษาการอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่แขวงบางบอน กรุงเทพฯ เพื่อตรวจราชการ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี ตั้งอยู่ที่ 70 หมู่ 4 แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ และ เรือนจำพิเศษธนบุรี ตั้งอยู่ที่ 1265/111 แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร โดยมี พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายอำนวย เปรมกิจพรพัฒนา ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี, นางบุญเอิบ เขม้นงาน ผู้บัญชาการทัณฑสถานหญิงธนบุรี และคณะผู้บริหารระดับสูงกรมราชทัณฑ์ ร่วมให้การต้อนรับ
โดยมีการตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพ การทำผม เสริมสวย การนวดแผนไทย การนวดแผนโบราณ วิชาโหราศาสตร์ การฝึกทำอาหารคาวหวาน วิชาการทำงานพื้นฐานอาชีพ อาทิ ดอกไม้ประดิษฐ์ พวงมาลัยประดิษฐ์ กระเป๋าสาน การร้อยลูกปัด การผลิตยาดมสมุนไพร การวาดภาพศิลปะ งานแกะสลัก งานไม้ การออกแบบและตัดเย็บชุดไทย และชุดการแสดงโขน รวมทั้งการฝึกการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมไทย อย่างการแสดงโขนรามายณะ และการแสดงดนตรี รวมทั้งการตรวจเยี่ยมห้องบริบาลทารก สำหรับเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ตั้งครรภ์, ห้องสมุดพร้อมปัญญา,ศูนย์พัฒนาพฤตินิสัย, ศูนย์สานงานศิลป์, ศูนย์การเรียนเอกชัยพิทยา, ศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชทานในพระบาทสมเดผ้จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมแผนกงานสูทกรรม ที่รับผิดชอบด้านโภชนาการ จัดทำอาหารคาว หวาน ให้กับผู้ต้องขังภายในเรือนจำรับประทาน วันละ 3 มื้อ และมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน สะอาดถูกหลักอนามัย ทั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ ยังได้เดินสวนสนามต้อนรับพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการในครั้งนี้ด้วย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระหว่างตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ห้องประชุมศรียะพันธ์ ว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เดินทางมารับทราบข้อมูล ได้เห็นว่า เรือนจำและทัณฑสถานของเรามีความเป็นสากลเทียบได้กับนานาประเทศ
”ผมมีความฝันเรื่องหนึ่ง คือ อยากเห็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของกระทรวงยุติธรรม จึงให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้จากเรือนจำ 5 แห่งในเขตกรุงเทพฯ ของกรมราชทัณฑ์ ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ เพื่อผลักดันให้การดูแลสุขภาพแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ได้อยู่ในสถานพยาบาลที่ดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสถานพยาบาลของกองทัพบก อย่าง โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่าง โรงพยาบาลตำรวจ“ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า สังคมมักมองหาทางออกไว้มากมาย แต่กระทรวงยุติธรรม แม้เป็นหน่วยงานปลายทางของศาล เคยถูกมองว่าเป็นดินแดนเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบกับผู้ต้องขัง แต่ยุคใหม่นี้ ดินแดนแห่งนี้จะเป็นสถานที่สร้างคน มอบโอกาสให้การศึกษา เสริมสร้างทักษะอาชีพ ฟื้นฟูให้พวกเขาสามารถกลับไปมีสถานะทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมสมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกประการที่ละเลยไม่ได้ คือ สวัสดิการของเจ้าหน้าที่ในงานราชทัณฑ์เอง ควรเทียบเท่าหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย
สิ่งสำคัญ ที่อยากฝากถึงทุกท่าน คือ ขออย่าด้อยค่าคนที่ก้าวพลาด งานราชทัณฑ์ต้องเปลี่ยนที่คิด จากเดิมในความเป็นพัสดีมาสู่ความเป็นครู เราต้องทำหน้าที่กล่อมเกลา ปรับพฤตินิสัย
"รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด จะต้องไม่เป็นเพียงคำท่องจำ ต้องไม่ฝ่าฝืนเสียเอง วันนี้ เราจึงแยกควบคุมระหว่างผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังในคดีเด็ดขาด และปฏิบัติกับเขาอย่างมีความเท่าเทียม”
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้ให้คณะที่ปรึกษา ร่วมกล่าวกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำพิเศษและทัณฑสถานหญิง เพื่อแสดงเจตนาร่วมขับเคลื่อนงานราชทัณฑ์ สนองนโยบายของกระทรวงยุติธรรม ที่นำโดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง
"ผมยินดีเป็นโอกาสให้กับทุกท่าน จะคิดให้ ทำให้ ขอขอบคุณที่ให้โอกาสมาพบ มาเยี่ยม มาดูความเป็นอยู่" พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “เรือนจำพิเศษธนบุรี” เป็นต้นแบบมาตรฐานเรือนจำ ที่นำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rule)’ มาใช้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ส่วน ”ทัณฑสถานหญิงธนบุรี“ นำข้อกำหนดบางกอก (Bangkok Rule) มาใช้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง