โดย รศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะวิจัย - สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารและการกิน แต่ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารยังคงไม่หมดไปจากประเทศไทย เรายังคงพบคนไทยบางกลุ่มมีปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางไปถึงระดับรุนแรง 

หากเปรียบเทียบตัวเลขกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันและระดับโลก สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารของคนไทยดูเหมือนเล็กน้อย ไม่น่ากังวล โดยพบเพียง 4.7% ของคนไทย ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง แต่หากดูตัวเลขความไม่มั่นคงทางอาหารของคนไทยในปี 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2563 พบว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 4.7% ในปี 2561 เป็น 7.1% ในปี 2563 (รูปที่ 1) 

รูปที่ 1 ร้อยละของคนไทยที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางและรุนแรง


ที่มาข้อมูล: ฐานข้อมูล FAOSTAT เข้าถึงจาก https://www.fao.org/faostat/en/#data/FS

 

ในปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจข้อมูลความไม่มั่นคงทางอาหาร ภายใต้ “โครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย” นำโดย รศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะวิจัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้เครื่องมือวัดความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่เรียกว่า Food Insecurity Experience Scale (FIES) ที่พัฒนาโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) เน้นวัดพฤติกรรมและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารระดับบุคคล เก็บข้อมูลในประชากรไทย เป็นตัวแทนระดับประเทศ อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 11,907 คน จากสี่ภูมิภาคของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร
 
ผลการสำรวจพบว่า คนไทยร้อยละ 9.4 ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง กลุ่มที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุด ได้แก่ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้อยู่อาศัยในเขตชนบท ผู้มีสถานภาพหม้าย/หย่า/แยก ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าประถม และผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 ลักษณะทางประชากรและสังคมของกลุ่มผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย


ที่มาข้อมูล: โครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย (2567)

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำงานของภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชากรที่มีปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารมาก เช่น ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้มีการศึกษาน้อย และผู้ใช้แรงงาน

นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพและรายได้ของคนไทย ให้มีความมั่งคงและยั่งยืน สามารถเข้าถึงและจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากินได้ในระยะยาว ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเอื้อต่อการเกิดความมั่นคงทางอาหาร เช่น การจัดแปลงปลูกผักในชุมชน ธนาคารอาหาร ครัวกลางชุมชน และกองทุนอาหาร รวมถึงการส่งเสริมสถานประกอบการให้มีการจัดสิ่งแวดล้อมทางอาหารให้เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ของคนทำงานด้วย เช่น ตลาดจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพในที่ทำงาน สถานประกอบจัดพื้นที่ให้คนทำงานสามารถปลูกผักไว้กินเองได้ เป็นต้น

โดยสรุป แม้ว่าสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศไทยยังดูไม่ค่อยรุนแรงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก แต่ยังพบคนไทย 1 ใน 10 มีความไม่มั่นคงทางอาหาร และตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาความไม่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพประชากร สังคมไทย เศรษฐกิจไทย และความมั่นคงของประเทศ เป็นสิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถมองข้ามได้ และต้องเร่งดำเนินการ ความสำเร็จของการลดปัญหาความไม่มีความมั่นคงทางอาหารนี้ จะช่วยเร่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDGs 2 “ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” และความสำเร็จของ SDGs 2 จะช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนการดำเนินงานของ SDGs อีก 16 ตัวที่เหลือ ให้เข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น