“ณัฐชา” ผงะ! พบรายงานไทยส่งออก ‘ปลาหมอคางดำ‘ 2.3 แสนตัว ด้าน กมธ.เตรียมขอตัวอย่าง ‘ครีบปลา‘ ที่ต้องเก็บก่อนการวิจัย พร้อมซากที่ส่งกรมฯ จ่อ ขุดตัวอย่างดินฝังกลบ หากไม่พบซาก รับ กฎหมายอ่อน เอาผิดได้น้อย

วันที่ 18 ก.ค.2567 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยกล่าวถึงสิ่งที่ถกเถียงกันมากในวันนี้ คือข้อมูลที่ดปิดเผยว่ามีการส่งออกปลาสายพันธุ์ดังกล่าว ในปี 2556 ถึง 2559 ซึ่งทางอธิบดีกรมประมงได้ตรวจสอบมาแล้วว่ามีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรถึง 17 ประเทศ โดย 11 บริษัทเอกชนจำนวน 230,000 ตัว

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เปิดเผยใหม่จากกรมประมง ถึงมติของคณะกรรมการ IBC ในการอนุญาตนำเข้าปลาสายพันธุ์ต้องห้าม เมื่อปี 2553 ว่าบริษัทเอกชนที่จะนำเข้า ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขสี่ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือการตัดตัวอย่างครีบปลาสายพันธุ์ ก่อนการนำไปวิจัย ให้กับกรมประมงนำไปบันทึกใน DNA Bank ซึ่งแตกต่างจากซากปลา 50 ตัวที่จะต้องส่งมอบภายหลังจากการวิจัยเสร็จสิ้น ส่วนความสำคัญที่ต้องหาซากปลา 50 ตัวหรือครีบปลาที่ถูกตัดไว้ก่อนการวิจัยนั้น คือการนำมาเปรียบเทียบกับพันธุกรรมปลาที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน หากตรวจสอบซ้อนพันธุกรรมแล้วตรงกัน ก็พิสูจน์ได้ว่าความผิดพลาดเกิดจากบริษัทเอกชน แต่หากไม่ใช่ก็ เป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับบริษัทที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ หากไม่พบตัวอย่างทั้งสองรูปแบบ อาจจะมีการขอบริษัทฯ เข้าไปเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ฝังกลบเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

เมื่อถามเป็นการหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปล่อยให้ผู้ขออนุญาตไม่ดำเนินการในบางข้อและนำเข้าก่อนหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในการตั้งคำถามที่เกิดขึ้น อีกทั้งเงื่อนไขข้อหนึ่งและระบุไว้ว่า ผู้นำเข้าจะต้องมีความระมัดระวังในการศึกษาวิจัย ซึ่งส่วนนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทราบอยู่แล้วว่าปลาหมอคางดำมีความเลวร้ายต่อระบบนิเวศ มันก็ต้องไปดูถึงรายงานการขออนุญาตจากบริษัทเอกชนว่ามีแนวทางในการที่จะวิจัยเพื่ออะไร  ส่วนการบังคับใช้กฎหมายประมง ถือเป็นกฎหมายเก่า มีโทษเพียงแค่ไม่ให้นำเข้าปลาสายพันธุ์เดิมมาเพื่อวัตถุประสงค์เดิมเท่านั้น  จึงไม่รุนแรงและไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้

นายณัฐชา กล่าวว่า  ส่วนการรับผิดชอบนั้น ต้องแบ่งเป็นสองเรื่แง คือการรับผิดชอบกฎหมายตามกฎหมาน และรับผิดชอบตามจิตสำนึกที่มี  แม้กฏหมายเดิมไม่ได้ครอบคลุม อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบ แต่บริษัทฯ ก็สามารถรับผิดชอบภายใต้จิตสำนึกที่มีว่าท่านจะสามารถช่วยเหลือสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ครั้งต่อไปคณะอนุกรรมาธิการจะเดินทางไปตรวจสอบห้องจัดเก็บซากสัตว์สัตว์และพันธุกรรมตัวอย่าง ที่กรมประมง ว่ามีมาตรการในการเก็บและติดตามที่รัดกุมมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ค.กมธ.จะเชิญตัวแทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มาชี้แจงข้อมูลถึงตัวอย่างครีบปลาที่ตัดส่งให้กับกรมประมงอีกครั้ง

"ขอชื่นชมรมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมประมง ที่ได้รื้อฟื้นการแก้ไขปัญหาวิกฤติปลาหมอครางดำขึ้นมาอีกครั้งแม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมาแล้วทั้งหมด 7 อธิบดี 8 รัฐมนตรี ก็ตาม ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็คงจะได้รับความชื่นชมและกลายเป็นวีรบุรุษ"นายณัฐชา กล่าว