ชาวบ้านที่อาศัยภายในหมู่บ้านจัดสรรที่ขอนแก่น ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำที่ท่วมขัง หลังจากมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ติดกันและมีพื้นที่สูงกว่า น้ำได้ลอดท่อเข้าหมู่บ้านสร้างความเดือดร้อน อย่างมาก

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพน้ำภายในหมู่บ้านกัญญารัตน์ริมบึง ซอยริมบึงซอย 8 เขตเทศบาลนครขอนแก่น มีน้ำท่วมขังภายในหมู่บ้านโดยน้ำมีสีขุ่นแดงเหมือรสีชา ชาวบ้านภายในหมู่บ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากที่ฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงกลางดึกต่อเนื่องตอนเช้าที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังภายในหมู่บ้านสูง 20-30 เซนติเมตร ชาวบ้านเข้าออกหมู่บ้านด้วยความลำบาก ทำให้เทศบาลนครขอนแก่น ต้องนำเครื่องสูบน้ำขนาดท่อ 6 นิ้ว มาช่วยสูบน้ำออกจากหมู่บ้าน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

นายวรกร ชาติชัยทัศ อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 177/36 ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองได้ซื้อหมู่บ้านแห่งนี้มาตั้งแต่เปิดโครงการ และในช่วงฤดูฝนจะไม่เจอกัญหาน้ำท่วม แต่ระยะหลัง ช่วงฝนตกหนักได้เกิดน้ำท่วมแต่ก็ระบายได้เร็ว จนกระทั่งล่าสุดมีการถมดินเพื่อก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร โดยได้มีการถมที่ดินสูงกว่าหมู่บ้านตนเอง จนเข้าฤดูฝนปีนี้ฝนที่ตกหนัก ได้ชะล้างเศษดินที่มีก่อสร้างพร้อมน้ำ ซึมผ่านกำแพงและท่อระบายเข้าหมู่บ้าน โดยน้ำจะมีสีเข้มเหมือนสีชา สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงได้แจ้งให่กับเทศบาลได้ทราบ จากนั้นก็ได้มีการนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งหน้าหมู่บ้าน เพื่อช่วยในการระบายน้ำในระยะนี้ไปพลางก่อน

ขณะที่นางวัฒธิดา แสนคำ อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 177/9 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเดือนร้อนมาก ปีนี้ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก น้ำก็จะท่วมหมู่บ้าน และน้ำยังมีสีขุ่นจนกระทั่งได้มีการร้องเรียนไปที่ เทศบาลนคร จนมีการเรียกคุยกันระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น กับตัวแทนวิศวกรบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และคณะกรรมการหมู่บ้านตัวเอง จนได้ข้อสรุปว่าจะมีการก่อสร้างกำแพงให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนกระทั่งเวลาไปจนถึงเวลาที่กำหนด กลับไม่มีการก่อสร้างกำแพงให้แล้วเสร็จ

" เมื่อประสานไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ชาวบ้านภายในหมู่บ้านเดือดร้อนมาก น้ำท่วมทุกครั้งก็ต้องมีการล้างบ้านทำความสะอาดตะกอนดิน จึงต้องการให้ทางโครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้เร่งทำรั้วที่มีการเทคานด้านล่าง ให้แล้วเสร็จเพื่อไม่ให้น้ำได้ไหลซึมเข้ามาได้อีก เพราะถ้าไม่อย่างนั้นน้ำก็จะกัดเซาะจากโพรงชั้นดินเข้ามาท่วมในหมู่บ้านซ้ำอีกอย่างแน่นอน"