ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงเปิด 8 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567ภายใต้แนวคิด สืบสาน–รักษา-ต่อยอด พระราชปณิธาน สร้างสรรค์นวัตกรรมบริการสุขภาพราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อปวงชน โดยน้อมนำแนวพระราชปณิธาน พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำโครงการเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม อีกทั้งสอดคล้องต่อภารกิจการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการมุ่งสร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนและเป็นพลังของแผ่นดินในการขับเคลื่อนการวิจัยสร้างองค์ความรู้ สร้างบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลน สร้างนวัตกรรมบริการสุขภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสืบไป โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หน่วยงานภาคีเครือข่าย สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมงาน ณ ชั้น 1 อาคารวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

พิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงถึงการดำเนินงานจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อน้อมนำแนวพระราชปณิธาน พระราชดำริ และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพลานามัยของประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เสนอจัดทำโครงการในนามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ภายใต้แนวคิด สืบสาน–รักษา-ต่อยอด พระราชปณิธาน สร้างสรรค์นวัตกรรมบริการสุขภาพเพื่อปวงชนเข้าร่วมเป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กับทางรัฐบาล จำนวน 8 โครงการ ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกมิติของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั้งด้านการให้บริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพ การจัดการศึกษาสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ การวิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อนำไปพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนสืบสานพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายคือการนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการสร้างสุขภาวะที่ดี ภายใต้ปรัชญา เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต โดยโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในนามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โครงการที่ 1โครงการประเมินสภาพปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งเสริมการนำนวัตกรรมบริการสุขภาพมาใช้ในการประเมินสุขภาพปอดของคนไทยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศของฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 โดยจะให้บริการ จำนวน 720 ราย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคปอดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดำเนินโครงการโดย โรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เปิดตัว 8 โครงการ

โครงการที่ 2 โครงการวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมระบบบริการสุขภาพทางไกลและพัฒนาบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลนให้มีความรู้เชี่ยวชาญเพื่อสามารถให้บริการตรวจและวินิจฉัยผลอัลตราซาวด์แก่ผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล โดยโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ตั้งเป้าหมายในการให้บริการวินิจฉัยและอ่านผลผู้ป่วยในโครงการ จำนวน 1,720 ราย

โครงการที่ 3 โครงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนด้านการป้องกันโรคมะเร็ง โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ได้ออกแบบระบบบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยนำนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติและแมมโมแกรม พร้อมระบบ AI ร่วมวินิจฉัยกับรังสีแพทย์ ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพจากบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ นำมาใช้ในการออกหน่วยลงพื้นที่สู่ชุมชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนเหนือ จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี จำนวน 720 ราย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้กับประเทศไทยและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในพื้นที่ห่างไกลต่อไป

 คณะพยาบาลพร้อมลงนามถวายพระพร

โครงการที่ 4 โครงการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้จัดทำโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของไวรัสตับอักเสบและให้บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี จำนวน 720 ราย ในวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองที่สะดวก รวดเร็ว รู้ผลทันที เพื่อป้องกันตนเองและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตต่อไป

โครงการที่ 5 โครงการพยาบาลศาสตร์อาสาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เรื่อง การเสริมสร้างสุขภาพและการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในชุมชน ดำเนินโครงการโดย วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการดูแลตนเอง เพื่อสร้างชุมชนผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

โครงการที่ 6 โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานเพื่อสังคม “สร้างสุขภาพดี ด้วยวิถีแพทย์แผนไทย” ดำเนินโครงการโดย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งเสริมการดูแลสุขภาพประชาชนโดยให้ความรู้และฝึกปฏิบัติในการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นการแพทย์แผนไทยมาใช้ในการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน

การให้บริการะบบอัลตราซาวด์ทางไกล ได้แล้วทั่วประเทศ

โครงการที่ 7 โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดยกำหนดการออกหน่วยให้บริการตรวจรักษาสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567

โครงการที่ 8 โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โดยได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นรวงผึ้ง ต้นสัก ต้นยางนา ต้นมะค่า จำนวน 720 ต้น ณ ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยพิทักษ์ป่าหนองเสือ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการมุ่งรักษาและต่อยอดตามแนวทางศาสตร์พระราชาในการที่จะช่วยกันรักษาผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า ให้อยู่อย่างยั่งยืน

ภายในงาน ยังได้เปิดเวทีพูดคุยเจาะลึกถึง 5 นวัตกรรมบริการสุขภาพราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จาก 5 โครงการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เปิดตัวด้วยนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติและแมมโมแกรม พร้อมนำ AI ร่วมวินิจฉัยผลกับรังสีแพทย์ โดย นพ.ศรัณย์ เลิศสถิตธนกร แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ อ.ดร.ทศพร เฟื่องรอด รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการและเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยมะเร็งเต้านม เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของสตรีทั่วโลก การควบคุมและป้องกันมะเร็งเต้านม คือ การรณรงค์ให้สตรีได้เข้ารับการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษาได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังพบว่ามีสตรีอีกเป็นจำนวนมากที่รอคิวหรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้เล็งเห็นความจำเป็นในการออกแบบพัฒนาระบบบริการสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีไทยด้วยนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม พร้อมด้วยระบบรายงานผลดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ร่วมวินิจฉัยกับรังสีแพทย์ ผลงานซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ โดยนำร่องให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแก่สตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส อายุ 35 ปีขึ้นไป ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนเหนือทั้งหมด 7 เขต จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรี ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 720 ราย ซึ่งโครงการดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อยอดส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีบริการสุขภาพมาใช้เพื่อยกระดับและพัฒนานโยบายระบบบริการสุขภาพให้กับประเทศไทยเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในพื้นที่ห่างไกลต่อไป โครงการพยาบาลศาสตร์อาสาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เรื่อง การเสริมสร้างสุขภาพและการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในชุมชน

นวัตกรรมการวินิจฉัยโรคตับด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับ ด้วยมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งท่อน้ำดีตับมีสาเหตุหลักจากพยาธิใบไม้ตับพบมากทางภาคอิสาน และ มะเร็งของเซลล์ตับ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งของเซลล์ตับในคนไทย คือ การเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมรณรงค์ชวนคนไทยเข้าตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี พร้อมอัพเดทนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคตับ โดย นพ.วรวัฒน์ แสงวิภานภาพร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

นวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ และเมมโมแกรม พร้อมนำ AI ร่วมวินิจฉัยผลกับรังสีแพทย์

นวัตกรรมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พร้อมด้วยเทคโนโลยี AI โดย ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ อ.ดร.วิทยา สังขะรัตน์ รองคณบดีด้านวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและวิเทศสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบโดยคนไทยในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเหมาะใช้คัดกรองรอยโรคในปอดโดยนำมาใช้ดูแลสุขภาพปอดของคนไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศสูงของฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จำนวน 720 ราย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองสภาวะปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำพร้อมด้วยระบบการจัดท่าและการสแกนอัตโนมัติ วินิจฉัยรอยโรคร่วมกับระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในรถที่มีความปลอดภัยสูงสุดจากการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคด้วยระบบกรองอากาศความเร็วสูงและแสงยูวี 222 นาโนเมตร โดยนอกจากจะช่วยให้ประชาชนในโครงการได้รับการประเมินสภาพปอดจากภัยสุขภาพฝุ่นจิ๋วแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อยอดสู่การขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายทางด้านการจัดการมลพิษของประเทศชาติต่อไป โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ฯ จะต้องอยู่ในช่วงอายุ 20-60 ปี มีพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ ปริมณฑล ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรคปอด โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ลงปอด (Pneumonia COVID-19) ไม่เคยมีประวัติการผ่าตัดนำเนื้อปอดออก (Lobectomy, Pneumonectomy) โดยรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีจุดจอดให้บริการอยู่ที่ CRA HALL อาคารสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ

นวัตกรรมระบบสุขภาพทางไกลเพื่อวินิจฉัยและอ่านผลอัลตราซาวด์แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล โดย ผศ.นพ.สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวน์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมบอกเล่าถึงการพัฒนานวัตกรรม โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำทีมลงพื้นที่ไปร่วมอบรมสอนการปฏิบัติงานจริงในการทำอัลตราซาวด์ พร้อมทั้งวางระบบสุขภาพทางไกลสำหรับการวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถทำการตรวจอัลตราซาวด์ได้ด้วยตนเอง และนำส่งภาพผ่านระบบคลาวด์เพื่อให้อาจารย์แพทย์ของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์ให้กับผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล ลดระยะเวลาการรอคอย และสามารถทำการรักษาได้ทันท่วงทีหากตรวจพบอาการผิดปกติ โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้านทางอัลตราซาวด์ทางการแพทย์แล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งถ่ายทอดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ

เยี่ยมชมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ ในโครงการการตรวจประเมินสภาพปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ปิดท้ายด้วยการเสวนากับนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.ประภา ยุทธไตร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , ร.อ.หญิงชุติมา ทองวชิระ อาจารย์ภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ อ.รัชนีภรณ์ ณ ถลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งได้บอกเล่าถึงการมุ่งเน้นการสร้างพยาบาลวิชาชีพของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ด้วยหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่มอบประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้และการปฏิบัติการพยาบาล มุ่งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน พร้อมทั้งได้นำนวัตกรรมแอปพลิเคชันประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ LLL Senior Care By CRA หนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุจากนักศึกษาพยาบาล ทั้งนี้ โครงการพยาบาลศาสตร์อาสาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เรื่องการเสริมสร้างสุขภาพและการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในชุมชน เฉลิมพระเกียรติ ฯ นอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการดูแลตนเอง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคมได้ดียิ่งขึ้น สร้างเครือข่ายชุมชนผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนแล้วโครงการดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามอัตลักษณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี คือ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติสืบไป

นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเปิดให้อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรและประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล ณ ชั้น 1 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวาควัฒน และการจัดแสดงบูธ 5 นวัตกรรมบริการสุขภาพราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อปวงชน พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนได้ร่วมทำกิจกรรมเวิร์คช้อปปลูกต้นไม้ สืบสาน รักษา ต่อยอดพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ และการทำยาดมสมุนไพรไทย สืบสาน รักษา สร้างเสริมสุขภาพดีด้วยวิถีแพทย์แผนไทย และการเสวนาให้ความรู้และ workshop เรื่อง “สร้างเสริมสุขภาพดีด้วยวิถีแพทย์แผนไทย” และไฮไลท์การเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พร้อมในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมสาธิตเคสในการตรวจประเมินสภาพปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมการออกแบบโดยคนไทยเพื่อนำมาใช้ในการตรวจประเมินสภาพปอดที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายทางด้านการจัดการมลพิษของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป