"นายกฯ" แจงสภาฯ จำเป็นต้องฉีดงบฯ67 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน ทำโครงการเงินดิจิทัล  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เงินไหลจากภาครัฐไปสู่เอกชน สร้างเม็ดเงินในชุมชน และยังจะทำให้มีงบฯ ลงทุนเพิ่มขึ้น 8.076 แสนล้านบาท จากปี 66 ด้าน "ศิริกัญญา" ซัด "ดิจิทัลวอลเล็ต" กู้เต็มเพดานพาประเทศเสี่ยง ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ขู่ข้าราชการที่ทำหน้าที่เสี่ยงผิดกฎหมายโดยที่นักการเมืองไม่ผิด ชี้อีก 15 วัน เปิดลงทะเบียน ยังทำระบบไม่แล้วเสร็จ ขอพรรคร่วมฯ ช่วยโหวตคว่ำ

 ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.ค.67 ในการประชุมร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแถลงหลักการและเหตุผลถึงร่างดังกล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบฯ เพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในจำนวนดังกล่าว และจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมเม็ดเงินในชุมชนต่างๆ รวมถึงลดภาระค่าครองชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐ และแผนการดำเนินงานของกระทรวง
 
นายเศรษฐา ชี้แจงต่อว่า ในปี 2567 การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 2.0-3.0% มีข้อจำกัดเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัด มีแนวโน้มเกินดุล 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายขาดดุล ในปี 2567 โดยประมาณการจากรายได้จากส่วนราชการอื่น 10,000 ล้านบาท และกู้ชดเชย 112,000 ล้านบาท รวมเป็นรายได้ทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโต โดยเม็ดเงินจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน จะทำให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าและบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 ส่วนเรื่องฐานะคงคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง 11,523,700.9 ล้านบาท หรือ 63.78% ของ GDP ขณะที่เงินคงคลัง อยู่ที่ 394,259.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 8 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

 อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท รวมกับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท รวมเป็นงบฯ 3.602 ล้านล้านบาท จะทำให้มีงบฯ ลงทุนเพิ่มขึ้น 8.076 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2566 จำนวน 17.1%
 
"การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพได้อย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย" นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

 ต่อมา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตอนนี้เราพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับที่ 3 แล้วของปีนี้ ซึ่งมาจากที่มาจากนโยบายเรือธงของรัฐบาลในการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตอนนี้นอกจากกู้เพิ่มงบฯ68 กว่า 1.522 แสนล้านบาท เรายังต้องบริหารจัดการงบฯ ปี68 อีก 1.32 แสนล้านบาท ตอนนี้รัฐบาลก็มาขอกู้เพิ่มของงบฯ ปี 67 อีก

 ประเด็นสำคัญที่การกู้เพิ่มในปีนี้จะเท่ากับว่าจะมีการกู้ชดเชยขาดดุล 805,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขก็ยังสูงถึง 4.3% โดยเราไม่เคยตั้งงบประมาณที่ขาดดุลสูงขนาดนี้ จะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะ และดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามมา และมีปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นคือการกู้จนเต็มเพดาน เพราะขาดเพียง 10,056 ล้านบาท เหมือนรัฐบาลนึกอะไรไม่ออกก็แบ่งงบให้กู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเราหาเงินไม่ทันแบบนี้ต้องดูว่ารัฐบาลมีแผนการหารายได้เท่าทันหรือไม่ หากเก็บรายได้ไม่ได้เท่าที่คาดไว้ อาจจะต้องกู้มาเพื่อจ่ายหนี้ ดังนั้น กระทรวงไหนที่เบิกจ่ายงบประมาณในตอนท้ายอาจมีงบฯไม่เพียงพอ

 ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่คือไม่ได้สนใจ หรือแคร์อะไรที่ประเทศต้องมาอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงแบบนี้ เพียงเพื่อที่จะให้ได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และทำให้ต้องกู้จนสุดเพดานขนาดนี้ 
    
 น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า จากเอกสารที่รัฐสภาได้มามีการประมาณค่าจีดีพีใหม่ แต่รายได้ไม่ได้ทำใหม่ ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการประเมินรายได้ใหม่ โดยผลการจัดเก็บล่าสุดก็สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีทางที่เราจะเก็บได้เท่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เพราะมีภาษีหลายตัวที่ไม่สามารถเก็บได้แล้ว ดูท่าทีแล้วไม่มีทางเลยที่รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ตามเป้า โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่เก็บได้ต่ำกว่าเป้า 58,000 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์แบบนี้ว่าเราไม่รู้ว่าจะมีรายได้เพียงพอ สำหรับงบ 67 ที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ ยังมาขอกู้เต็มเพดานอีก จะไม่เหลือพื้นที่ไว้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยใช่หรือไม่

     น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ทำไมถึงไม่แก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพราะรัฐบาลที่มีเสียงในสภามากกว่า คงไม่ขัดข้องที่จะแก้ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง จึงเสนอให้ห้อยท้ายของมาตรา 21 ให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่าข้าราชการที่ทำหน้าที่เสี่ยงผิดกฎหมายโดยที่นักการเมืองไม่ผิด

 โครงการนี้จะลงทะเบียนอีก 15 วัน แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ และยังคงใช้ไว้ในงบกลางและระบบลงทะเบียนเพิ่งได้ผู้ชนะการประมูล 2 เจ้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีระบบการชำระเงินที่ชัดเจน ดังนั้นจะทันหรือไม่ และยังมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปมา ขณะนี้ยังไม่มีมีการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนได้ ดังนั้นระบบที่ถูกออกแบบมาแบบนี้เอื้อกับร้านค้าที่มีสายป่านยาว แต่ร้านค้ารายเล็กอาจไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะต้องต้องใช้เงินสดในการใช้ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่บอกว่าจะต้องมีระบบการจ่ายภาษีอย่างไร ไม่มีความชัดเจนเลย ถ้าเขามีเงินสดไม่พอ จะมีสินเชื่อให้เพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่
 น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ขอส่งความห่วงใยไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่าท่านจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำผิดกฎหมายครั้งนี้ ในการกระทำที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายครั้งนี้หรือไม่ ถ้ายังยึดถือหลักการ หรือหลักวิชาการอะไรอยู่ในหัวใจ คงรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าทำแบบนี้จะทำให้ประเทศเราสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงขอให้ช่วยกันคว่ำร่างฉบับนี้