ราชบุรี – ประมงชี้ราชบุรีพบปลาหมอคางดำ  5  อำเภอ
ประมงจังหวัดราชบุรี  ร่วมกับ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี ตรวจติดตามการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พบมีการแพร่ 5  อำเภอ เตรียมตั้งจุดรับซื้อเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา 
             (  17  ก.ค.  67 )  นายอนันต์  สุนทร  ประมงจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนางสาวสุรังษี  ทัพพะรังสี  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี  นำเจ้าหน้าที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยใช้เครื่องมือประมงประเภท แห ในการจับ  บริเวณอำเภอดำเนินสะดวก  โดยมีนายยุทธพยงค์   โล่เกียรติคุณ ผู้แทนภาคการประมงจังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่เพื่อสำรวจการแพร่ระบาด 
              ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดราชบุรีพบว่า ราชบุรีมีการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่  5  อำเภอ  ได้แก่ อ.ดำเนินสะดวก พบการระบาดทุกตำบล  อ.บางแพ พบบริเวณตำบลดอนใหญ่ ตำบลโพหัก  อ.เมืองราชบุรี พบที่ตำบลคุ้งน้ำวน ตำบลบ้านไร่  อ.วัดเพลง พบที่ตำบลจอมประทัด   อ.ปากท่อ  พบที่ตำบลวันดาว 
               อย่างไรก็ตามสำนักงานประมงจังหวัด  ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำหลายช่องทาง ทั้งการประชุมเกษตรกร ด้านการประมง  แผ่นพับประชาสัมพันธ์   นิทรรศการตามงานต่าง ๆ  ซึ่งพื้นที่ราชบุรี พบการระบาดไม่รุนแรงเท่าในเขตจังหวัดที่อยู่ติดทะเล แต่มีการแพร่กระจายไปตามคลองต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณ อ.ดำเนินสะดวก เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชในร่องสวน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด  ส่วนบริเวณ อ.บางแพซึ่งมีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากที่สุดของจังหวัด พบว่ามีการแพร่ระบาดน้อยมาก ประกอบกับสำนักงานประมงได้ประชาสัมพันธ์ให้เตรียมบ่อเลี้ยงเพื่อป้องกันปลาหมอคางดำไว้แล้ว 
                ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่  16  ก.ค. 67  ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งว่าจะรับซื้อปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ  15 บาท โดยให้กรมประมงเตรียมการรับซื้อ ขณะที่ปัจจุบัน จ.ราชบุรี  มีการจับปลาหมอคางดำ  มาบริโภคเพียงอย่างเดียว ยังไม่มีการจับได้ปริมาณมาก ๆ และจำหน่ายเป็นรายได้ 
              ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัด จะได้กำหนดจุดรับซื้อราคากิโลกรัมละ 15 บาท พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา   ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่   17  ก.ค.  67  เจ้าหน้าที่ได้มีการประชุม  ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี มีมติมาตรการที่สำคัญคือการใช้ข่าย และ แห ในการกำจัดปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ ที่จะนำมาใช้บริโภคได้ เพื่อให้ออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และการปล่อยปลาผู้ล่าในการกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็ก โดยเสนอให้ปล่อยปลาอีกง ปลากดคัง ปลาช่อน และปลากระสูบ ซึ่ง สนง.ประมงจังหวัด จะได้เสนอไปที่กรมประมงต่อไป