เก็บตกสีสันชุดไทยหลากสมัยในแปดริ้ว จากวัตถุดิบแหล่งผลิตในพื้นถิ่น ผลงานสร้างสรรอันสวยงามน่าชื่นชม เหมาะสมที่จะเปิดออกสู่สายตาชาวโลกให้ได้ดู เชื่อเป็นมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่แอบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนห่างไกลปลายสุดขอบเขตจังหวัด ก่อนถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็นพลังทางภูมิปัญญา สร้างซอฟต์พาวเวอร์ดึงดูดสายตาอันโดดเด่นได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยผลงานการออกแบบร่วมพัฒนาที่ถูกรังสรรค์ให้มีความงดงามดูทรงคุณค่าจากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นที่ยื่นมือเข้ามาช่วยผลักดัน

วันที่ 17 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเก็บตกจากในงาน “Inter Inspire week 2024” แรงบันดาลใจแห่งสายน้ำ ที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 10-14 ก.ค.67 ที่ผ่านมา ที่ได้มีการนำผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนซึ่งเป็นพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ตามวิถีชุมชนจากทุกมุมของผู้คนในท้องถิ่นเข้ามาออกร้านจัดแสดงที่กลางใจเมืองสู่สายตานักท่องเที่ยวและผู้คนที่ได้เข้ามาร่วมในงาน

โดยเฉพาะในคืนสุดท้าย (14 ก.ค.67) นั้นทาง มรภ.ราชนครินทร์ ได้จัดงานประกาศถึงความสำเร็จในการจัดงาน “Inter Inspire week 2024” แรงบันดาลใจแห่งสายน้ำ จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเมือง “Soft Power” หลังมีประชาชนสนใจเข้ามาร่วมชมและเดินในงานเป็นจำนวนมาก

พร้อมได้มีการจัดให้มีการเดินแบบ แสดงถึง “อัตลักษณ์อาภรณ์ศิลป์ภูษา พื้นถิ่นฉะเชิงเทรา” ที่ได้นำผ้าไทย ซึ่งเป็นผลงานจากกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ จากหมู่บ้านนายาว บ้านมาบสมบูรณ์ อ.สนามชัยเขต บ้านอ่างเตย บ้านเนินน้อย อ.ท่าตะเกียบ จำนวนกว่า 20 แบบมาจัดแสดงอย่างหลากหลายในแต่ละยุคสมัย โดยมีทั้งชุดราตรีประยุกต์ร่วมสมัย จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ 3,600 ปี “เจ้าแม่โคกพนมดี” จากผ้าสไบขิดลายเจ้าไพร (ลายช้าง) ซึ่งเป็นชุดผ้าพื้นถิ่นแบบร่วมสมัย แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเขาอ่างฤาไนที่ถักทอโดยกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนายาว

 ชุดยุคทวารวดีผลิตจากผ้ามัดหมี่ลายดอกรักราชกัญญา สไบขิดลายเจ้าไพรใช้นุ่งห่มพันสดแบบทวารวดี ในชุด “ทวารวดีศรีอู่ไท” ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดีของ จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านการนุ่งห่มแบบโบราณด้วยผ้าแถบพันอก จากผ้าสไบขิดลายเจ้าไพรนุ่งผ้ามัดหมี่ลายดอกรักราชกัญญา ถักทอโดยกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนายาว

ชุดยุคขอมจากผ้าโฮลเปราะห์ลายสับปะรด เครื่องแต่งกายในชุมชนยุคประวัติศาสตร์ในเขตแดนเมืองศรีมโหสถและเมืองพระรถ รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าโลก ภายใต้อำนาจการปกครองของขอมโบราณใช้นุ่งห่มพันสดแบบเจ้าชายขอมรองเท้าสาน และผ้าโฮลเปราะห์ลายข้าวหลามตัดและลายหนามเตยใช้นุ่งห่มพันสดแบบนางอัปสรา

ชุดสมัยอยุธยาตอนปลายผลิตจากผ้าพิมพ์ลายกุดั่นใบเทศ (บุพเพสันนิวาส ชุดพี่หมื่นรองเท้าสาน) ผ้าพิมพ์ลายกุดั่นใบเทศสไบจีบ (บุพเพสันนิวาส แม่การะเกด) โดยผ้าลายกุดั่นใบเทศเป็นผ้าห่อคัมภีร์โบราณที่พบในวัดเก่าแก่เขต อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา สังเคราะห์ลวดลายและออกแบบผืนผ้า โดยอาจารย์พีรณัฐ ทรงเกตุกุล กลุ่มวิชาพื้นฐาน (นาฏศิลป์ศึกษา) พิมพ์ลายโดยอาจารย์สุรพงษ์ ยื่นแก้ว อาจารย์สาขาวิชาทัศนศิลป์และมีเดียอาร์ต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ราชนครินทร์

ชุดภูไทท่าตะเกียบ ชายนุ่งโสร่งไหมหางกระรอกผ้าขาวม้าสวมเสื้อม่อฮ่อมภูไทคาดเอวด้วยเครื่องเงิน หญิงนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ลายริ้ว “โฮลแสร็ย” สวมเสื้อม่อฮ่อมภูไทมัดหมี่พาดสไบขิดและเครื่องเงิน โดย กลุ่มสตรีทอผ้าโส๊ดละออ บ้านอ่างเตย และกระเป๋าย่าม จากกลุ่มสตรีทอผ้าชุมชนภูไทบ้านเกาะกระทิง

ชุดรัตนโกสินทร์สมัยรัชการที่ 5 ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรปมาประยุกต์ใช้ในสยาม ด้วยชุดไทยพระราชนิยม หญิงไว้ผมทรงดอกกระทุ่มสวมเสื้อลูกไม้แบบตะวันตก ประดับมุกเป็นสายสร้อยหลายชั้น นุ่งโจงกระเบนผ้าเปลือกไหม ทอโดยกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านมาบสมบูรณ์ บุรุษสวมสูทอย่างชาวตะวันตก นุ่งโจงกระเบนผ้าหางกระรอก ซึ่งเป็นผ้าประจำ จ.ฉะเชิงเทรา ฝีมือจากกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนายาว ด้วยผ้าไหมพื้นสีเหลืองเสื้อหมูแฮมนุ่งโจง

ชุดรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 6 สตรีนุ่งซิ่นลายหนามเตยย้อมสีธรรมชาติจากต้นสาบเสือ สวมเสื้อผ้าลูกไม้ฝรั่งเศสตัวยาว ผมดัดเป็นลอนแบบชาวยุโรป ออกแบบเป็นชุดไทยพระราชนิยมในสมัย ร.6 ฝีมือกลุ่มสตรีทอผ้าโส๊ดละออบ้านอ่างเตย ชุดไทยเรือนต้นมัดหมี่ลายดอกรักราชกัญญา ตั้งชื่อตามพระตำหนักเรือนต้นลักษณะแขนสามส่วนคอกลมกระดุมหน้าถุงป้าย เป็นชุดลำลองที่สุดในบรรดาชุดไทยพระราชนิยม ใช้ผ้าไหมลายริ้วตามขวางหรือตามยาวหรือผ้าเกลี้ยงมีเชิง ซิ่นยาวจรดข้อเท้า สวมเครื่องประดับชิ้นเล็กพองาม เหมาะสำหรับงานที่ไม่เป็นพิธีการ

ชุดไทยจิตรลดามัดหมี่ลายนวลลออ ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐานทรงแขนกระบอกคอจีนกระดุมหน้าถุงป้ายลายเล็ก ลักษณะเป็นเสื้อคอตั้งแขนยาวถึงข้อมือกระดุมหน้า 5 เม็ด ผ้าถุงป้าย ชายเสื้อปล่อยด้านนอก สวมใส่เครื่องประดับสวยงาม โดยไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใช้ในงานพิธีทางการช่วงกลางวัน ชุดไทยอัมรินทร์ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย จากผ้าไหมมัดหมี่ลายข้าวหลามตัดก้านแย่งแขนกระบอกคอจีนกระดุมหน้าถุงป้ายลายใหญ่ สวมใส่แบบเดียวกันกับชุดไทยจิตรลดา

แตกต่างที่เนื้อผ้ามีลวดลายใหญ่ชัดเจนกว่า พร้อมมีเครื่องประดับที่ดูหรูหรามากขึ้น ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใช้ในงานพิธีเลี้ยงอาหารเย็นหรือพระราชพิธีต่าง ๆ ชุดไทยจักรี ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จากผ้ามัดหมี่ลายกระจ่างใจรัก (ชมพู) พาดสไบเฉียงจีบหน้านาง เป็นชุดที่มีความเป็นทางการและมีความสง่างาม ห่มสไบพันรอบอกเฉียงขึ้นบ่าซ้าย หรือขวา นุ่งกับผ้าซิ่นจีบหน้านางชักชายพก พร้อมเครื่องประดับหรูหรา สวมใส่ในงานพระราชพิธีหรืองานเลี้ยงค่ำ และนิยมใช้เป็นชุดเจ้าสาวในปัจจุบัน

ชุดไทยจักรพรรดิ จากผ้าไหมมัดหมี่ลายเชิงเทียน (สีม่วง) สไบเฉียงห่มสะพัก จีบหน้านาง ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นชุดไทยห่มและพันเฉียงขึ้นบ่าคล้ายกับชุดไทยจักรี แต่ห่มผ้าสไบปักสะดึงกรึงไหมทับอีกหนึ่งชั้น ด้วยวิธีการห่มแบบสะพัก นุ่งกับผ้าซิ่นยกไหมทองจีบหน้านางชักชายพก พร้อมเครื่องประดับหรูหรา ใช้ในพระราชพิธีหรือรัฐพิธีที่สำคัญ มีความเป็นทางการสูง ปัจจุบันนิยมใช้เป็นชุดแต่งงานของเจ้าสาว

ชุดไทยบรมพิมาน ผ้าไหมมัดหมี่ลายก้ามปูและลายเครือสีชมพูแขนกระบอกคอจีนซิปหลัง จีบหน้านาง ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน ประกอบด้วยเสื้อแขนยาวคอตั้งซิปหลัง นุ่งผ้าซิ่นยกไหมทองจีบหน้านางชักชายพกทับชายเสื้อ ใช้ในพิธีทางการหรือกึ่งทางการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ นิยมใช้เป็นชุดแต่งงานของเจ้าสาว ชุดไทยศิวาลัยผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามเตย ทอยกลายลูกแก้วแขนกระบอกคอจีนซิปหลังห่มสไบจีบหน้านาง ตั้งชื่อตามพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นเสื้อคอตั้งแขนยาวซิปหลัง นุ่งผ้าซิ่นยกไหมทองจีบหน้านางชักชายพกทับชายเสื้อแบบเดียวกับชุดไทยบรมพิมานห่มผ้าสไบสะพักทับอีกหนึ่งชั้น

มีความเป็นทางการสูง ใช้ในงานช่วงเย็นหรืองานรัฐพิธีประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และนิยมใช้เป็นชุดเจ้าสาวในปัจจุบัน โดยเป็นชุดไทยที่มีความหรูหรามากที่สุด ชุดไทยดุสิตมัดหมี่ลายประจำยามก้านแย่ง เป็นเทคนิคไหมควบทอคั่นหมี่ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลักษณะเป็นเสื้อแขนกุด คอเสื้อด้านหน้าและด้านหลังคว้านกว้าง ปักประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่หรูหรา นุ่งผ้าซิ่นยกไหมทอง จีบหน้านางชักชายพกทับชายเสื้อ ใช้ในงานพระราชพิธีตอนค่ำที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ และนิยมใช้เป็นชุดเจ้าสาวในปัจจุบันเช่นกัน

ชุด “Bangpakong the r i v e r o f Inspiration” ผ้าไหมหางกระรอกประจำ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเครื่องแต่งกายราตรีประยุกต์ร่วมสมัย ถูกสร้างสรรค์เป็นชุดราตรีด้วยการนุ่งห่มพันสด ใช้ผ้าไหมหางกระรอกผืนเดียวยาว 11 เมตร สื่อถึงความสง่างามด้วยอัตลักษณ์ ทางศิลปะ ประเพณี และความเป็นพหุวัฒนธรรมของ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นดั่งสายธารคอยหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจของชาวฉะเชิงเทรา ทอดยาวตลอดสายทั้ง 11 อำเภอ