"แสวง" โต้ “ก้าวไกล”  ยื่นยุบพรรค ให้อำนาจ “กกต.-นายทะเบียน” ยื่นได้ เปรียบกรณียื่นให้  ส.ส.-รมต.พ้นสภาพ ก็ให้อำนาจหลายองค์กรยื่นร้องศาลฯได้เช่นกัน

  

วันนี้  (17 ก.ค.)  นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว   ถึงอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.   เลขา กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง   ต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง   โดยระบุว่า  สถานะ  หน้าที่และอำนาจ กกต.  เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ    มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง  เลือก การออกเสียงประชามติ   และหน้าที่อื่น ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น      

เลขา กกต. เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารและธุรการของ กกต.   เพื่อให้งานในหน้าที่และอำนาจของ กกต. สำเร็จตามที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขึ้นตรงกับ กกต.            

นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนๆ เดียวกับเลขา กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ไม่ใช่หัวหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง   และนายทะเบียนพรรคไม่ได้ตรงขึ้นตรงกับ กกต.  ต่างคนต่างเป็นอิสระ    ต่างทำหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ทำเท่านั้น    ไม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงการบริหารหรือธุรการแต่อย่างใด         

 นายแสวง ยังระบุว่า   การทำงาน  ความสัมพันธ์ กกต.   และ เลขา กกต. ทำงานร่วมกันในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานของ กกต. เพื่อเป้าหมายของงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต. ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามฐานานุรูปในตำแหน่งที่ดำรงอยู่     กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง ต่างคนต่างทำงานไม่ขึ้นต่อกัน    งานจะสัมพันธ์กันก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ต้องสัมพันธ์กัน กกต.จะมีมติให้ทำนายทะเบียนทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้          

และตัวอย่างการทำงาน กกต.และเลขา กกต. เช่น  การเลือกตั้ง ส.ส.   เลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท    งานประชามติ   กกต. เป็นผู้ออกระเบียบ ประกาศ ให้เลขาปฏิบัติ มีมติให้เลขาไปดำเนินการในงานข้างต้นได้ทุกเรื่องเพื่อผลสำเร็จของงาน

   

ส่วน  กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง  เช่น  การเสนอให้ยุบพรรคการเมือง กกต. ก็มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคโดยลำพังตามมาตรา 92   แต่จะมามีมติ หรือสั่งให้นายทะเบียน พิจารณาดำเนินการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 93 ไม่ได้    เพราะมาตรา 93 เป็นอำนาจเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง

"ดังนั้น การเสนอให้ยุบพรรคตามมาตรา 92 หรือ 93   จึงไม่ใช่ทางเลือกหรือดุลยพินิจที่ กกต. จะเลือก   เพื่อเสนอให้ยุบพรรคการเมือง    ว่าจะใช้มาตราใดสำหรับพรรคใด    แต่เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอยุบพรรค แก่ 2 องค์กร คือ กกต. หรือ นายทะเบียนพรรคการเมือง และแต่ละองค์กรก็เป็นอิสระต่อกัน” นายแสวง กล่าว

และว่า เรื่องนี้อาจเทียบเคียงได้กับ การพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจแก่หลายองค์กรในการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ    คือ ส.ส. เข้าชื่อกันก็ยื่นได้ กกต.ก็ยื่นได้เช่นกันหากเห็นว่ามีเหตุให้ยื่น เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ไม่ขึ้นต่อกัน    แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยื่นแล้ว     อีกฝ่ายก็อาจยุติเรื่องก็ได้ เพราะมีการยื่นไปแล้ว    ด้วยข้อกฎหมาย เหตุผลข้างต้น ทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องมาตราฐานหรือไม่มีมาตราฐานแต่ประการใด