เมื่อวันที่ 17ก.ค.2567 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุข้อความ ว่า

เรื่องมันมีต่อไปว่า

ธุรกิจสร้างคนสร้างปริญญา ดูไปได้สวย จากลูกค้าไม่กี่ราย ก็มีการบอกต่อ บอกต่อ บอกต่อ

ได้รับความนิยมจากผู้มีสตางค์แต่ไร้วุฒิ จากสิบ กลายเป็นร้อย

อาจารย์ที่ปรึกษา ที่รับจ้างช่วยทำก็ไม่ใช่เครื่องจักรกลที่ผลิตบทความทางวิชาการ ผลิตงานวิจัยได้เดือนละหลาย ๆ ชิ้น

การ copy & paste and minor change จึงเกิดขึ้น

บทความวิจัยนับสิบเรื่อง จึงอาจต่างกันเล็กน้อยในชื่อเรื่อง หน่วยที่ศึกษา แต่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง sample size ล้วนเท่ากัน เพราะต้องสอดคล้องกับค่าสถิติ ค่า significance ส่วนคำอธิบายขยายความและข้อเสนอแนะอาจแตกต่างไปบ้าง

สมัยก่อนคงตรวจสอบกันยาก แต่สมัยนี้มี software ช่วยตรวจ plagiarism หรือการโจรกรรมทางวรรณกรรมมากมาย เช่น การใช้โปรแกรม Turnitin นาทีเดียวก็รู้เรื่องว่า ลอกกันกี่คำ กี่บรรทัด กี่หน้า หรือทั้งเล่ม

ใครที่เถียงคอเป็นเอ็นว่า ชั้นเขียนเองกับมือ ถ้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถูกให้ออกมานักต่อนัก ส่วนนักศึกษาที่จบได้รับปริญญาไปแล้ว สภามหาวิทยาลัยยังมีเรียกคืนปริญญาก็มีไม่น้อย

บทความ งานวิจัยที่ขาดมาตรฐาน คัดลอก ดัดแปลง หากส่งลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมาตรฐานที่มีระบบ peer review หรือมีผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบ มีกลไกตรวจสอบการคัดลอกงานวิชาการ มักจะไม่รอด ไม่ได้ตีพิมพ์

แต่ในโลกนี้ยังมีธุรกิจวารสารนักล่า Predatory Journals สร้างชื่อวารสารออนไลน์ที่ตั้งชื่อคล้าย ๆ วารสารดัง ๆ ให้บทความประเภทนี้ตีพิมพ์ง่าย ๆ เพียงจ่ายเงินตามอัตราที่กำหนด

แค่ไม่กี่เดือน บทความร้อยเรื่องหนึ่งเนื้อความ ของผู้เรียนนับสิบคนก็ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศเหล่านั้น พร้อมส่งประเมินเทียบวุฒิ เทียบตำแหน่งวิชาการกับบริษัทดังชื่อคล้ายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

ไม่กี่เดือนถัดมา รศ.ดร. ก็มาอยู่หน้าชื่อ รออีกแป๊บ ก็ใช้ ศ.ดร. ได้ โดยถ้าไม่มาสมัครงานราชการ ก็ไม่มีใครว่า

ปัญหาคือ วุฒิสภา คือ การสมัครงานราชการหรือไม่ เข้าใจว่า อ.ที่ปรึกษาอาจลืมติว

 

#siamrath #สยามรัฐ #siamrathonline #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #ธุรกิจ #ปริญญา #แฉยับ #สมชัย #วุฒิ