วันที่ 17 ก.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า โดยภาพรวม กรมประมงเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และต้องติดตามทุกจังหวัด เช่น การปล่อยปลาผู้ล่า 100,000 ตัวในกรุงเทพมหานคร การควบคุมปริมาณปลาพื้นที่ต่าง ๆ ส่วน กทม.เป็นหน่วยงานท้องถิ่น ดูแลเรื่องเก็บข้อมูล เฝ้าระวัง ระบุพิกัด และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมที่กรมประมงกำหนด รวมถึงดูแลเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและการเยียวยาเป็นหลัก
ปัจจุบันสำนักพัฒนาสังคม อยู่ระหว่างพิจารณาระเบียบดำเนินการในมิติต่าง ๆ เช่น แนวทางการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ หรือแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมต่าง ๆ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายกำหนด คาดว่าใช้เวลาอีก 2 วันได้ข้อสรุป
กรณีประกาศภัยพิบัติเพื่อจ่ายเงินเยียวยา ต้องดูระเบียบและแนวทางดำเนินการให้ชัดเจน โดยเทียบเคียงกรณีภัยพิบัติน้ำท่วม เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยชิน รวมถึงต้องดูจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรด้วย ส่วนเรื่องการกำจัดปลาตายที่เกิดขึ้น กทม.ดำเนินการฝังกลบตามแนวทางจัดการขยะอินทรีย์ตามปกติ
ล่าสุด กทม.ประชุมร่วมกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อทราบแนวทางจัดการของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแหล่งเริ่มแพร่ปลาหมอคางดำสู่กรุงเทพฯ ปัจจุบันแพร่ไปถึงจังหวัดสมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครปฐม เป็นต้น จากการประชุม แต่ละจังหวัดยังไม่พบปัญหามากนัก ได้ตั้งเครือข่ายเก็บข้อมูลการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ เพื่อควบคุมตามแนวทางของกรมประมง เช่น คลองสนามชัย เชื่อมต่อกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เชื่อมต่อคลองประเวศ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา หรือที่บึงมักกะสันเชื่อมต่อคลองแสนแสบ ซึ่งปลาอาจแพร่พันธุ์ไปได้ จึงต้องประสานงานกับจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลและระบุตำแหน่งปลา
สำหรับการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม. เบื้องต้นพบในเขตบางขุนเทียน บางบอน ทุ่งครุ มีผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และเกษตรกรกว่า 900 คน ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปลาหมอคางดำกินไข่ปลา ปลาเล็กที่เพาะเลี้ยง สร้างความเสียหาย