วันที่ 17 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด ได้มีการทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 คำถามและคำตอบสำคัญประกอบการพิจารณานำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ถึงประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยระบว่า...
เพื่อให้การพิจารณา "นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด" "ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด" ของคณะกรรมการ ป.ส. เป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวม เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการและภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด ขอนำเสนอคำถามและคำตอบสำคัญประกอบการพิจารณาดังนี้
1. คำถาม : การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทำให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ ใช่หรือไม่?
คำตอบ : หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 จะไม่สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยได้ใช้ "ประมวลกฎหมายยาเสพติด" แล้ว การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด "ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด" ประเทศไทยจะสามารถ
ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายยาเสพติดได้อนุญาตไว้
2. คำถาม : การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ทำให้เกิดสภาพ "นโยบายกลับไปกลับมา" หรือไม่?
คำตอบ : สิ่งที่ถูกต้อง คือ "การปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดด้วยกฎหมายกัญชาผ่านรัฐสภาตั้งแต่ต้น "แต่รัฐบาลที่แล้วกลับไม่ทำแบบนี้ โดยไปทำการปลดกัญชาด้วยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทน จึงเป็นสาเหตุของปัญหานโยบายกลับไปกลับมาเช่นปัจจุบันนี้ หากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยปลดกัญชาด้วยกฎหมายกัญชา จะทำให้เกิดการพิจารณาผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องถกเถียงเหตุผลอย่างเปิดเผยและผ่านกระบวนการที่อำนาจอยู่ในมือสมาชิกสภาทั้งสองสภา (กว่าเจ็ดร้อยคน) ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจกำหนดนโยบายและกฎหมายต่างๆมีความชัดเจนและจะไม่เกิดสภาพกลับไปกลับมา ดังนั้นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดในทันทีในขณะนี้แล้วตามด้วยการทำกฎหมายกัญชาโดยเร็ว จะทำให้สังคมปลอดภัยและไม่เกิดสภาพกลับไปกลับมาของนโยบายกัญชาอีกต่อไป
3. คำถาม : ระหว่างรอให้มีกฎหมายกัญชา ควรห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือ ควรปล่อยให้สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้?
คำตอบ : การใช้กัญชาซึ่งมีทั้งประโยชน์จากการใช้ทงการแพทย์และโทษจากการใช้เพื่อสันทนาการ เปรียบเสมือนการขับขี่จักรยานยนต์ซึ่งมีทั้งประโยชน์คือความสะดวก และโทษจากความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ประเทศจะต้องมีกฎหมายควบคุมการขับขี่ที่เหมาะสม เมื่อครั้งที่ประเทศไทยไม่เห็นประโยชน์ใดๆของกัญขาเลย จึงได้ควบคุมกัญชาด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 คือห้ามใช้กัญชาทั้งเพื่อสันทนาการและเพื่อการแพทย์เปรียบเสมือนการห้ามขี่จักรยานยนต์โดยเดีดขาด แม้ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่ก็ทำให้เดินทางไม่สะดวกแต่เมื่อประเทศไทยเห็นประโยชน์ของการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ปรับกฎหมายควบคุมกัญชาให้เป็น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 และประมวลกฎหมายยาเสพติดในปี พ.ศ. 2564 เปรียบเสมือนการอนุญาตให้ขี่จักรยานยนต์ได้แต่ต้องติดเบรคอย่างดี คือสามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แต่ห้ามใช้เพื่อสันทนาการ ต่อมามีการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดภายใต้ภายใต้นโยบายกัญชาเสรีโดยไม่มีมาตรการดูแลที่เพียงพอเปรียบเสมือน "การอนุญาตให้ขี่จักรยานยนต์ที่ไม่มีเบรคเลย " ซึ่งอันตรายมาก ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมามากมาย (ดูข้อมูลแนบท้าย) และจะมากขึ้นในอนาคต ดั้งนั้นในระหว่างรอทำกฎหมายกัญชา ประเทศไทยจึงควรที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดก่อน ซึ่งเปรียบเสมือนการติดเบรคให้กับจักรยานยนต์ ในระหว่างที่รอจักรยานยนต์พิเศษเฉพาะคือกฎหมายกัญชาออกมาใช้ การกระทำเช่นนี้ประชาชนและเยาวชนจะได้รับความคุ้มครองตลอดเวลา
4. คำถาม : กระทรวงสาธารณสุขถูกกล่าวหาว่าไม่มีจุดยืน เพราะมีมติเห็นชอบให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทั้งๆ ที่เมื่อสองปีที่แล้วได้เห็นชอบให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะถูกกล่าวหาเช่นเดียวกันหรือไม่?
คำตอบ : ปรากฏการณ์กระทรวงสาธารณสุขนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "นักการเมืองเจ้ากระทรวง" มีอิทธิพลเหนือข้าราชการประจำอย่างมาก ตั้งแต่การคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงที่ยินดีตอบสนองนโยบาย และ การปลดย้ายหากไม่ทำตามนโยบาย ข้าราชการประจำจึงต้องยอมทำตามฝ่ายการเมืองแม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายก็ตาม (ข้อมูลแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ ขี้ให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขทราบอยู่แล้วว่าเกิดผลกระทบด้านลบมากมาย หลังปลดกัญชาเสรี แต่ไม่มีใครกล้าพูด เมื่อเจ้ากระทรวงเป็นผู้ผลักดันนโยบายปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติเอง)
มติของคณะกรรมการ ป.ป.. ที่เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดเมื่อสองปีก่อน ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าให้รอให้ประเทศไทยมีกฎหมายกัญชาออกมาควบคุมก่อนจึงค่อยให้การปลดกัญชาจากการเป็นยาสพติดมีผลบังคับใช้ แต่กระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลที่แล้วดึงดันปลดกัญชาเสรีทั้งๆที่ยังไม่มีกฎหมายกัญชา แม้สำนักงาน ป.ป.ส. จะทำหนังสือทักทัวงอย่างเป็นทางการถึงสองครั้งว่าควรชะลอการบังคับใช้ไปก่อน การมีมตินำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดของ
คณะกรรมการ ป.ป.ส.ในครั้งนี้ จึงเป็นจุดยืนเดิม และเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง ทั้งในแง่การทำตามขั้นตอนทางกฎหมายการเคารพมติของคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อครั้งก่อน (วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565) และเพื่อคุ้มครองประชาชนและเยาวชนไทยเครื่อข่ายฯจึงขอสนับสนุนให้คณะกรรมการ .ป.ส. มีมติห็นชอบให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และได้รับความคุ้มครองโดยการห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ในระหว่างรอทำกฎหมายกัญชา
นอกจากนี้ ในจดหมายเปิดผนึก ยังมีข้อมูลแนบท้าย ระบุว่า...
“ข้อมูลใหม่ สะท้อนปัญหาจากการปลดกัญชาเสรี”
มีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับผลกระทบด้านลบจากการ ปลดกัญชาเสรี และยินดีให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งหากการปลดกัญชาเสรีก่อให้เกิดผลกระทบด้าน ลบจริงๆ เอกสารฉบับนี้ขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าว
1.จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรายเดือนที่มารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชา ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทันที หลังปลดกัญชาเสรี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า จำนวนผู้ป่วยนอก ที่มารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชา (cannabis poison) เพิ่มจาก 52 ราย/เดือน ในเดือนพ.ค. 2565 เป็น 342 ราย/เดือน ในเดือน ก.พ. 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6.6 เท่าหลังปลดกัญชาเสรี จำนวนผู้ป่วยในรักษาด้วยอาการเดียวกันเพิ่มจาก 18 ราย/เดือน ในเดือน พ.ค. 2565 เป็น 132 ราย/เดือน ในเดือน ก.พ. 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7.3 เท่าหลังปลดกัญชาเสรี
2.ส่วนจำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อปี เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า และ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า จำนวนผู้ป่วยนอกที่รับการรักษาด้วยอาการติดกัญชาต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 16,643 รายในปี 2562 เป็น 32,634 รายในปี 2566 กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จำนวนผู้ป่วยในที่รับการรักษา ด้วยอาการติดกัญชาต่อปีเพิ่มจาก 1,137 ราย ในปี 2562 เป็น 5,924 ราย ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า จำนวนผู้ป่วยนอกที่รับการรักษาด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 6,585 ในปี 2562 เป็น 20,502 รายในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 3 เท่า) และจำนวนผู้ป่วยในที่รับการรักษาด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มจาก 742 รายในปี 2562 เป็น 3,989 รายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่า)
3.จำนวนผู้ป่วยต่อเดือน ที่เข้ารับการรักษา ด้วยอาการที่เกิดจากการใช้กัญชาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดท่องเที่ยวจังหวัดหนึ่ง เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า หลังปลดกัญชาเสรีสองปี จำนวนผู้ป่วยเพิ่มจาก 4 รายในเดือน มิ.ย. 2565 (เดือนที่ปลดกัญชาเสรี) เป็น 87 รายในเดือน เม.ย. 2567 (หนึ่งเดือนก่อนครบสองปีปลดกัญชาเสรี) โดยเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานโยบายกัญชาเสรีอาจส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต
4.ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยก่อนปลดกัญชา ปี 2562-2564 คิดเป็น ค่าใช้จ่ายปีละ 3,200-3,800 ล้านบาท แต่เมื่อปลดล็อกกัญชาปี 2565-2566 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 15,000-21,000 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 5 เท่า
5.การเปรียบเทียบว่า ปัญหาจากการใช้กัญชาในวันนี้ น้อยกว่าปัญหาจากการใช้บุหรี่เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัญหาจากการปลดกัญชาเสรีจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน หากยังคงปล่อยให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด เช่นเดียวกับปัญหาจากการสูบบุหรี่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 20-30 ปี หลังจากที่บุหรี่ถูกสูบอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวลาของการสะสมผลร้ายจากการสูบบุหรี่ในร่างกาย
จากข้อมูลผลกระทบด้านลบเชิงประจักษ์ใหม่ๆเหล่านี้ ที่บ่งชี้ว่าหลังจากปลดกัญชาเสรี มีผู้ป่วยจากการใช้กัญชามากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการท่องเที่ยวของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจะทำให้หยุดการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ทันที โดยยังสามารถใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ในระหว่างที่รอการออกแบบนโยบายและกฎหมายกัญชาที่ต้องใช้เวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง
สรุปข้อมูลใหม่ที่สะท้อนปัญหาของนโยบายปลดกัญชาเสรี
1. จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชาเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี
2. จำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชา เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี
3. จำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี
4. จำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาในจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี
5. ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ป่วยจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 5เท่า หลังปลดกัญชาเสรี