ความยั่งยืนเป็นประเด็นหลักที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยและโลกสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ด้วยแนวคิดเบื้องหลังที่ว่า การรักษาและพัฒนาทรัพยากรในปัจจุบันให้ดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต โดยไม่เบียดเบียนคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของสิ่งแวดล้อมและสังคม
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ผู้ทรงก่อตั้ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานไว้นับตั้งแต่ทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และโครงการต่างๆ โดยเฉพาะต้นแบบด้านการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในเวทีระดับโลก อย่าง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มองว่าการบุกรุกทำลายป่าเกิดขึ้นด้วยความจำเป็นเรื่องปากท้อง ดังนั้นแล้ว การปลูกป่าเพื่อให้ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพมีความอุดมสมบูรณ์ชั่วลูกชั่วหลาน แท้จริงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การปลูกคน ให้ชุมชนมีอาชีพสุจริตที่หลากหลาย เมื่อป่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่มั่นคง ชุมชนจะหวงแหนรักษาป่าเอง
วันนี้ เมล็ดพันธุ์จากพระราชปณิธานของการ ปลูกป่า ปลูกคน ได้ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรม
ในมิติทางสังคม นายทรงยศ วิเศษขจรศักดิ์ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิก้าดอยตุงและเจ้าของร้านกาแฟลิเช เป็นตัวอย่างของผู้เติบโตในครอบครัวและสังคมที่มีแต่ความเจ็บ จน ไม่รู้ แต่เมื่อได้รับโอกาส ก็พยายามจนประสบความสำเร็จ นายทรงยศกล่าวด้วยความภูมิใจว่า ตนเองเกิดที่ดอยตุงอยู่ในครอบครัวเกษตรกรและปลูกฝิ่นขายตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ แทบจะทุกคนในหมู่บ้านติดยาเสพติดจากฝิ่น แต่ชาวบ้าน “ไม่รู้” ว่านี่คือสิ่งผิดกฏหมาย รู้แค่ว่าต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กระทั่งสมเด็จย่าทรงก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ พาผู้ติดยาเสพติดไปบำบัด สร้างอาชีพสุจริต ให้การศึกษา จนชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืนได้ถึงทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งเคยได้รับเสด็จฯ สมเด็จย่าใกล้ๆ และเห็นพระองค์ทรงแย้มพระสรวลให้ แม้จะเป็นวัยเด็กมาก แต่ยังประทับใจและเป็นแรงบันดาลใจมาถึงทุกวันนี้ “ปัจจุบัน ครอบครัวมีอาชีพปลูกและขายกาแฟจากการส่งเสริมของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ประกอบกับตัวเองเป็นคนช่างสังเกตและชอบต่อยอด ทุกครั้งที่เห็นโอกาสใหม่ๆ จะรีบคว้าไว้ ตอนแรก ปลูกกาแฟขายผลสดอย่างเดียว รายได้ไม่มาก เพราะโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาจากที่เราไม่มีความรู้ แต่พอได้ไปดูร้านกาแฟต่างๆ ในเมืองขายกาแฟแก้วละ 40-50 บาท ก็ตกใจมาก เพราะเราต้องขายกาแฟสดถึง 1 กิโลกรัม กว่าจะได้เงินเท่ากาแฟ 1 แก้วของเขาซึ่งใช้ปริมาณกาแฟในการชงแค่นิดเดียว จึงกลับมาแบ่งปันกับชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกกาแฟ และเดินหน้าหาความรู้เรื่องการคั่ว แปรรูป หาเงินทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เป็นกองกลางให้ชาวบ้านได้ทดลองต่อยอดได้” ปัจจุบัน นายทรงยศ สามารถปลูกและคั่วกาแฟขายเองตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำยันปลายน้ำ มีร้านกาแฟเป็นของตัวเองถึง 7 สาขา เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากโอกาสที่ได้รับจนได้มีอาชีพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืนที่ไม่ได้ต้องการยืนหยัดได้แค่ตัวเองและครอบครัว แต่มีความตั้งใจที่จะช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ของความรู้และแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์นับร้อยชีวิตบนดอยตุง นางทัศนีย์ โสภณอำนวยกิจ ครูสอนคณิตศาสตร์และภาษาจีน โรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าว่าเป็นลูกสาวคนโตในพี่น้อง 4 คน มีเชื้อสายอาข่า-จีน เกิดในยุคที่ค่านิยมของคนในหมู่บ้านสมัยนั้นต้องการขายลูกสาวให้ไปค้าประเวณีเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด แต่โชคดีที่พ่อและแม่ไม่ยอมขาย
ลูกเป็นโสเภณี และแม่ผู้ไม่มีสมบัติใดๆ มีความตั้งใจแน่วแน่ว่า มรดกเดียวที่สามารถให้ลูกได้คือการส่งเสริมเรื่องการศึกษา เมื่อโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เข้ามาจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือและได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จนจบปริญญาตรี ซึ่งหนึ่งความฝันของครูดอยคนนี้ บอกว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ ม.5 อยากสร้างโอกาสให้คนอื่น เหมือนที่ได้รับโอกาสบ้าง “ตอนนั้นหนูเปรียบเทียบอาชีพครูเหมือนเรามีมะม่วงอยู่ผลหนึ่ง แต่แทนที่เราจะกินหมดแล้วทิ้งไป เราเอาเมล็ดไปปลูกให้ผลิดอกออกผลต่อไปได้ การศึกษาเป็นสิทธิ์ที่คนเราทุกคนควรได้รับ เพราะมองว่าจะเป็นทางรอดของชีวิตอย่างยั่งยืนได้”
ส่วนมิติสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรจากการฟื้นฟูต้นน้ำที่เคยโดนแผ้วถางเพื่อปลูกฝิ่นจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้นประมาณ 100,000 ไร่ และจัดสรรพื้นที่ป่าตามการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย จึงไม่มีการบุกรุกป่า และมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด พบพันธุ์ไม้ใหม่ของโลกกว่าสิบชนิด และมีสัตว์ป่าหลายชนิดมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้ เช่น เลียงผา แมวดาว นกปีกแพรเขียวปลาค้างคาวดอยตุง ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาและดูแลพื้นที่ป่ามากว่า 30 ปี
เมื่อ พ.ศ. 2563 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้นำประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติไปริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการดูแลรักษาป่าชุมชนใน 9 จังหวัด โดยเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อมๆ กัน ทั้งยังลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพ และผนึกกำลังกับพันธมิตรจากภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ดำเนินงานด้านความยั่งยืนหลายมิติ เช่น การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป้าหมายใหญ่ในการผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลต่อไป