วันที่ 16 ก.ค.67 เพจ The Structure โพสต์ข้อความระบุว่า รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ในระหว่างการหาเสียงในรัฐเพนซิลวาเนีย โดยมีนาย Thomas Mathew Crooks อายุ 20 ปี เป็นผู้ต้องสงสัย และถูกเจ้าหน้าที่ Secret Service วิสามัญฆาตกรรมในที่เกิดเหตุ โดยมีข้อสรุปในประเด็นดังต่อไปนี้
-- แรงจูงใจในการลอบสังหาร --
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ลูกชายอดีต ประธานาธิบดี ทรัมป์แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มหัวรุนแรงซ้ายจัด ในขณะที่ทางการสหรัฐยังไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ ซึ่งการใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็เกิดขึ้นบ้างเป็นระยะ ๆ ในการเมืองสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ในการหาเสียงในครั้งนี้ ฝ่ายต่อต้านทรัมป์ มีการระบุว่าทรัมป์ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และสหรัฐ ซึ่งการหาเสียงในลักษณะนี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรงขึ้นมา จนอาจจะนำไปสู่ความพยายามที่จะลอบสังหารได้
อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ได้เริ่มดำเนินการสอบสวนบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการลอบสังหารแล้ว แต่น่าจะใช้เวลา เนื่องจากผู้ก่อเหตุไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน
และเนื่องจากผู้ก่อเหตุนั้นมีอายุเพียง 20 ปี ดูจะไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองมากเท่าผู้ใหญ่ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีแรงจูงใจด้านสังคม จิตวิทยาของกลุ่มบุคคลที่นิยมความรุนแรงมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนของสหรัฐ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ก็ล้วนแต่มีผู้ก่อเหตุที่มีอายุไม่มาก เป็นเยาวชน ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีแรงจูงใจจากสาเหตุนี้
อีกทั้งชาวอเมริกันมีความสามารถในการซื้ออาวุธ ซึ่งในบางมลรัฐอาจจะมีกฎระเบียบที่ไม่รัดกุม ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามเปลี่ยนแปลง แต่ค่อนข้างที่จะไม่ได้ผล อีกทั้งยังอาจจะมีกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการใช้อาวุธปืน เช่นปืนยาว ซึ่งในกรณีนี้ถือว่ามีความแตกต่างจากคนทั่วไปด้วย
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่แนวทางที่สุดโต่งระหว่างเดโมแคตร และรีพลับบลิกัน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในการก่อเหตุได้อีกด้วย เห็นได้จากความพยายามของโจ ไบเดน และเดโมแครตในการระงับการหาเสียง และสั่งห้ามมิให้มีการโจมตีกันไปมา ในระหว่างการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ด้วย เพื่อป้องกันการยั่วยุ ระงับเชื้อแห่งมูลเหตุมิให้เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นอีก
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ยากลำบากในการชี้ชัดว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุนั้นมาจากเรื่องใดกันแน่
สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มที่มีเครือข่ายโยงใยทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามทฤษฎีสมคบคิดนั้น คงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายท่านเห็นว่าคงจะไม่ได้คำตอบในเร็ว ๆ นี้ อาจจะต้องรอจนถึงเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยซ้ำ
แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายในการเมืองสหรัฐได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงโดยถ้วนหน้าแล้ว ซึ่งรวมถึงตัวประธานาธิบดี ไบเดน ด้วย
-- ผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี --
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดนได้สั่งให้ยุติการโฆษณาหาเสียง และยุติการให้ความเห็นทั้งหมดนับตั้งแต่การเกิดเหตุไปก่อน รวมไปถึงการห้ามมิให้ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้เพื่อควบคุมทิศทางในการหาเสียง สร้างความสับสนในการเดินหน้าต่อ
ในขณะที่ทรัมป์ยืนยันที่จะไปร่วมการประชุมใหญ่ของพรรครีพลับบลิกัน และเริ่มให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งจากตัวทรัมป์และครอบครัว โดยตั้งข้อสงสัยว่าผู้ก่อเหตุลอบสังหารอาจจะเป็นสมาชิกของกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งประเด็นนี้ถือว่ามีความละเอียดอ่อน
สำหรับการหาเสียงนั้น เหลือเวลาอีกเพียง 150 วัน ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากนับจากนี้ จะดำเนินการผิดพลาดไม่ได้อีกแล้ว และเหตุการณ์นี้จะทำให้ทิศทางการหาเสียงของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเปลี่ยนไปด้วย
ทั้งนี้เจ้าของบริษัทเอกชนรายใหญ่ และสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ระดับโลก ส่วนใหญ่ได้ออกมาประกาศสนับสนุนทรัมป์กันหลายคนแล้ว ต้องจับตาว่าจะทำให้เกิดเสียงสนับสนุนทรัมป์เพิ่มมากขึ้นด้วยหรือไม่
ในขณะที่นานาชาติกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อเสถียรภาพของระบบความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตัดสินใจเลือกทรัมป์ หรือไบเดนไปแล้ว คงไม่เปลี่ยนใจ เพราะเป็นระบบที่ชัดเจนมาแต่แรก อย่างไรก็ดีตัวแปรหลักอยู่ที่กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ (Swing Voters) และอาจเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปตามสถานการณ์ ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะฉวยประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนี้
-- ผลกระทบต่อโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต --
ก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์ลอบสังหารทรัมป์ โจ ไบเดน ถูกหลายฝ่าย ซึ่งรวมไปถึงผู้สนับสนุนพรรค และสมาชิกคนสำคัญของพรรคเดโมแคตรเอง ออกมาเรียกร้องให้ไบเดนถอนตัวออกจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการตัดเงินสนับสนุนพรรคในการรณรงค์หาเสียง
และการลอบสังหารทรัมป์ ทำให้ปัญหามีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดีต้องออกแถลงข่าวฉุกเฉิน พยายามต่อสายพูดคุยกับทรัมป์ และสื่อสารกับประชาชน
ปัญหาใหญ่สำหรับพรรคเดโมแครตคือ การหาเสียงในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวว่าทรัมป์เป็นภัยความมั่นคงของชาติ และระบบประชาธิปไตยของสหรัฐและโลก ซึ่งอาจจะเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มหัวรุนแรง ออกมาก่อเหตุหรือไม่
ทำให้มีความพยายามประณามการใช้ความรุนแรง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง ทำให้ปัญหาเกิดความซับซ้อนขึ้นไปอีก และอาจจะทำให้คะแนนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทิ้งห่างออกไปหรือไม่
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ชั่วโมงแรกของเหตุการณ์ พรรคเดโมแครตได้มีการปรับยุทธศาสตร์การหาเสียงใหม่ ในช่วงเวลาที่ถือว่ายากลำบากสำหรับพรรค ซึ่งมีปัญหาภายในมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้วด้วย
-- ผลกระทบต่อทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน --
ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความท้าทายในอีกหลายเรื่อง ในการหาเสียงเรียกคะแนนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะปัจจุบันคะแนนค่อนข้างใกล้เคียงกัน และยังระบุไม่ได้ว่าผลจากการลอบสังหารครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทรัมป์มากเพียงใด ซึ่งอาจจะได้ผลดีในพื้นที่ที่คะแนนเสียงยังคงแกว่งอยู่ (Swing State) แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด
อีกทั้งยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยกันมากว่า ทางพรรครีพับลิกันมีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบสังหารในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
สำหรับคะแนนสงสารนั้น อาจจะใช้ได้ผลในรัฐที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกิดเหตุ แต่สำหรับพื้นที่ที่ออกไปไกลกว่านี้ อีกทั้งถ้าหากหาเสียงไม่พอดี ใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้มากจนเกินไป คะแนนสงสารอาจจะไม่ได้มากขึ้นอย่างที่ตั้งใจก็เป็นได้ อีกทั้งความตื่นตระหนก ก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อตัวทรัมป์เองได้ โดยอาจจะมีผู้ที่เห็นว่าทรัมป์เป็นตัวแปรของความขัดแย้ง และอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนได้
สำหรับการที่ทรัมป์ หันหน้ามาทางจอทีวี แล้วชูกำปั้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าตนเองจะยังสู้ต่อ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้สนับสนุนตนเอง ว่าผู้สมัครที่ตนเองเลือกยังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการใช้สถานการณ์ที่มีความเข้มข้น พร้อมต่อสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แม้ในยามบาดเจ็บก็ไม่เปลี่ยนแปลง
#โดนัลด์ทรัมป์ #ทรัมป์ #Trump