สยามคูโบต้า เปิดตัวโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” ปั้นโมเดลถั่วเหลืองประสิทธิภาพ นำโซลูชันและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมวิชาการเกษตรในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ภาคเหนือและภาคอีสาน ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบถั่วเหลืองในฤดูฝนพร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร

นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า พืชถั่วเหลือง ถือเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ในทางกลับกันการผลิตถั่วเหลืองสำหรับการบริโภคในประเทศไทยกลับน้อยลง ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก สยามคูโบต้าเล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองไทยสู่ความยั่งยืน หากทดแทนการนำเข้าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยทั้งในฤดูการเพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จึงได้ดำเนินโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” สร้างโมเดลต้นแบบการเรียนรู้สำหรับพืชถั่วเหลืองเพื่อส่งเสริมและขยายพื้นที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองให้มากขึ้น 

โดยได้สนับสนุนองค์ความรู้และโซลูชันในการปลูกถั่วเหลือง ตั้งแต่เพาะปลูกจนขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง พร้อมได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ภาคเหนือและภาคอีสาน ในการสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบการเพาะปลูก และบ่มเพาะต้นกล้าเยาวชนนักศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีเงินสนับสนุนเงินทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษา วษท. ที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 180,000 บาท และสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละภาค รวมมูลค่ากว่า 150,000 บาท

นายปรีชา กาเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองของประเทศ โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีโมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ Low carbon เป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 400 กก./ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 267 กก./ไร่ โดยโมเดลดังกล่าวสามารถขยายผลสู่เกษตรกรในโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” เพื่อยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของชุมชนได้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตพืช เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจะส่งผลให้ได้จำนวนต้นถั่วเหลืองในพื้นที่ปลูกสูงเนื่องจากมีอัตราการงอกและรอดตายสูง 

นายสุรศักดิ์ เทียบรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “เรามีพื้นที่วิทยาลัยกว้างขวางและพร้อมที่จะสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแปลงต้นแบบ โดยมีเครือข่ายวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) เข้าร่วมใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ ตาก ขอนแก่น ชัยภูมิ และยโสธร นอกจากนี้ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรและเทคโนโลยี เราพร้อมที่จะปั้นต้นกล้า จาก นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร และต่อยอดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ ตามคำขวัญของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ คือ ผลิตได้ ขายเป็น เน้นคุณภาพในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้เป็นผู้ที่มีศักยภาพในการผลิต จำหน่าย สินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ต่อไป”

​​​​​​​ ​​​​​​​

โครงการ "คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง" ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างพื้นที่นำร่องและเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการเพิ่มวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมจะช่วยยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น เป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในอนาคต