การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายคือการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน (Carbon Neutral Tourism : CNT) สู่ Net Zero Tourism ในบริบทนี้ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กรมการท่องเที่ยว และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่าง แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. นำโดยผู้บริหารทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ คุณณัฏฐิรา แพงคุณ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัย บพข.

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงาน โดย บพข. มีบทบาทในการหนุนเสริมภาควิชาการด้านการสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว  ซึ่งที่ผ่านมา บพข. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนามาตรฐาน PCR บริการท่องเที่ยว และแนวทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ Nature-based Solution (NbS) ในแหล่งท่องเที่ยว 33 แห่ง รวมถึงการริเริ่มจัดทำ Carbon Footprint Organization (CFO) ภาคบริการการท่องเที่ยว โดยมี โรงแรม 7 แห่ง และผู้ประกอบการขนาดเล็ก  4 กิจการเข้าร่วมดำเนินการ อีกทั้งยังมีการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการองค์กรจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว Destination Management Organization : DMO ระดับจังหวัด ที่จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงได้มีการพัฒนา Zero Carbon Application ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 2,235 ราย ประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ 600 ครั้ง และชดเชยคาร์บอน 425 tCO2eq สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEATA นั้น ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย/นักวิชาการราว 20 มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์/เส้นทาง/กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก.จำนวน 183 เส้นทาง ครอบคลุม 77 จังหวัด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโปรแกรมปกติ คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,250 tCO2eq เหลือ 1,550 tCO2eq โดยลงได้ราว 700 tCO2eq คิดเป็นร้อยละ 31 

ช่วงปี 2568-2570 บพข. เตรียมพร้อมในการผลักดันการท่องเที่ยว Carbon Neutral Tourism : CNT) สู่ Net Zero Tourism โดยตั้งเป้าหมายในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จำนวน 44 แห่ง ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ อุทยาน และการท่องเที่ยววิถีสายน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้จะมีการพัฒนาเครื่องมือ Net Zero Pathway ของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ร่วมกับ อบก. และองค์กรนานาชาติ เช่น UN Tourism, GSTC, WTTC, The Travel Foundation, และ Nature-based Solutions Initiative โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ประเทศไทยมีต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สอดคล้องกับแนวทางของ CBD, UNFCCC ตลอดจนมีแผนในการปรับตัวและความยืดหยุ่นในภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืนภายในปี 2570 ซึ่ง UN Tourism ประกาศให้เป็น International Year of Sustainable & Resilient Tourism

ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินงานของ บพข. มีความสอดคล้องกับภารกิจของกรมการท่องเที่ยวในการดำเนินงานให้บรรลุผลตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) เกี่ยวกับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวลงร้อยละ 2 ต่อปี โดยกรมการท่องเที่ยวจะมีบทบาทเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลการวิจัยนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวได้วางแนวทางดำเนินการในการสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจภาคการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่าน  Zero Carbon Application พร้อมทั้งรวบรวมและจัดทำเป็นฐานข้อมูล นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการสร้างและขยายผลต้นแบบสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก อบก. พร้อมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านกลไกคณะกรรมการการท่องเที่ยวยั่งยืนแห่งชาติ แนวทางในการสร้างมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษีและการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับแก่นักท่องเที่ยว ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

ในด้านของ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะสนับสนุนระเบียบ วิธีการเชิงเทคนิค และการสร้างเครื่องมือ กลไกการหนุนเสริมเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ Net Zero Tourism เกิดขึ้นจริงและเป็นรูปธรรม การผนึกกำลังครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง บพข. กรมการท่องเที่ยว และ อบก. การจัดตั้งคณะทำงานนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และวางแผนการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนการพัฒนาโครงการร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ การผสมผสานมาตรฐานของกรมการท่องเที่ยวเข้ากับมาตรฐานจากผลการวิจัยชั้นแนวหน้าของ บพข. สู่ภาคปฏิบัติ เกิดความร่วมมือในการสร้างต้นแบบผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยว Net Zero Tourism การยกระดับทักษะของบุคลากรภาคการท่องเที่ยว และการริเริ่มในการสร้าง DMO การท่องเที่ยว Net Zero Tourism ในระดับชาติ จึงนับเป็นการทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของ Net Zero Era ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความซับซ้อนและท้าทายที่ทุกเศรษฐกิจและสังคมโลกต้องเผชิญและก้าวผ่านไปให้ได้