"บิ๊กหลวง"ลุยนครพนม แก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด พร้อมหารือแนวทางจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ
วันที่ 15 ก.ค.67 จ. นครพนมพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สส.นครพนม เขต 1 นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พล.ต.พรชัย มาหลิน รองแม่ทัพภาคที่ 2 (รอง ผบ.นบ.ยส.24) พล.ต.นรธิป โพยนอก ผบ.กกล. สุรศักดิ์มนตรี นายภิญโญ โฆษิต ผอ.ปปส.ภ.4 พ.ต.อ.ลือศักดิ์ ดำเนินสวัสดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการอำเภอบ้านแพงที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมตรวจติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหายาเสพติด การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนครพนม และการดำเนินงานโครงการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม อำเภอบ้านแพง เป้าหมาย 3 รุ่น ๆ ละ 150 คน โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. และได้มอบนโยบายให้คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานทั้งในมิติของการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษาและการบริหารจัดการ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่บ้านแพง จ.นครพนม ว่าขอให้หน่วยงานช่วยลงมาดู ช่วยแนะนำและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์ยาเสพติดมีผู้เสพผู้ค้าระบาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานฟื้นฟูฯ ยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้มีการประชุมในวันนี้
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า หน่วยที่ทำงานเรื่องยาเสพติดทั่วประเทศ มีทั้งหมด 28 หน่วยงาน สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมกับ 28 หน่วยงานให้ขับเคลื่อนงาน ยาเสพติดไปพร้อมๆ กัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้จัดสรรงบประมาณให้กับ สำนักงาน ป.ป.ส. ส่วนหนึ่งเรียกว่า งบบูรณาการ และอีกส่วนหนึ่งจากการยึดทรัพย์สินจากคดียาเสพติดที่จะตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวถึงรัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด การจัดการกับปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการในทุกมิติ ซึ่งทุกคนต้องร่วมกัน "ปัญหายาเสพติด เรามองว่าผู้เสพเป็นอาชญากรกันมาโดยตลอด 30-40 ปี ซึ่งเราต้องให้โอกาสเขา โดยการที่เราต้องมองว่าเขาเป็นผู้ป่วย ปัจจุบันนี้เราต้องเปลี่ยน อย่าให้ชาวบ้านมองว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นของภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว เราต้องทำให้ชาวบ้าน เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมกัน อาจจะเป็นคำพูดที่พูดง่าย อาจทำยาก แต่ทำได้ เพราะต้องช่วยกัน เริ่มตั้งแต่ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ต้องร่วมมือกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน เราจะแก้ให้เห็นภายใน 4-5 เดือน อาจจะเห็นผล แต่จะยังไม่ 100 เปอร์เซ็น แต่ผมยืนยันว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว”