วันที่ 15 ก.ค.67 ที่ย่านตลาดคลองถม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมระบบประปาหัวแดงเพื่อใช้ดับเพลิงในพื้นที่

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนกรณีเหตุไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ พบว่า ปัญหาหนึ่งคือการเข้าพื้นที่ของอาสาสมัครและหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการซักซ้อมและบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ฝึกซ้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ แต่เวลาเกิดเหตุจริงมีหน่วยงานต่างพื้นที่เข้ามาจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องซักซ้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หน่วยงานใดเข้าพื้นที่ก่อน-หลัง กำหนดสัญลักษณ์จุดประปาหัวแดงให้ชัดเจน ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเวลาใช้งาน และให้การเข้าพื้นที่ของรถน้ำมีความสะดวก

 

ยกตัวอย่าง จุดติดตั้งประปาหัวแดงจะมีอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำ (วาว์ล) ในประปาหัวแดง ซึ่งติดตั้งอยู่บนพื้นถนน ใกล้กับประปาหัวแดง จึงไม่ควรมีการตั้งวางสินค้ากีดขวาง หรือมีรถมาจอดทับวาว์ลน้ำ หรือจอดใกล้กับประปาหัวแดง เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการเปิดน้ำเพื่อต่อสายดับเพลิง หรืออาจทำให้เจ้าหน้าที่มองไม่เห็น ซึ่งการเปิดวาว์ลประปาหัวแดงต้องใช้พื้นที่ อุปกรณ์เปิด และเจ้าหน้าที่ 2-3 นาย หากมีรถจอดขวางอาจจำเป็นต้องยกเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน ทำให้การดับเพลิงล่าช้าออกไป

 

นายสุริยชัย อธิบายว่า กทม.มีแผนซักซ้อมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตำรวจจราจร สำนักงานเขต และอาสาสมัครต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่ตามระดับความสำคัญ คือ วงแดง เป็นพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ส่วนวงเหลืองและเขียวเป็นพื้นที่ของเจ้าหน้าที่การจราจร เช่น ตำรวจ เทศกิจ ดูและเรื่องความปลอดภัย ทรัพย์สิน การจราจร โดยหลักการ หากรถพยาบาลมาต้องจอดข้างนอก เพื่อเปิดทางให้ผู้ป่วยด้านในออกมาข้างนอกได้ ไม่ขวางทางออก แต่กรณีไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ พบว่า มีรถต่างพื้นที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความคล่องตัวในการทำงาน จึงต้องซักซ้อมให้ดีขึ้นกว่านี้ ส่วนเรื่องประปาหัวแดง กทม.มีการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้พร้อมใช้งาน เช่น สิ่งกีดขวางทางน้ำ ความสมบูรณ์ท่อส่งน้ำ โดยย่านคลองถมมีประปาหัวแดง 11 หัว

 

นอกจากเรื่องประปาหัวแดงและการเข้าพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องประสานกับการไฟฟ้านครหลวงเพื่อตัดไฟฟ้าในพื้นที่ก่อนทำการดับเพลิง และต้องประสานการประปานครหลวงเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำในประปาหัวแดงให้เพียงพอต่อการดับเพลิง รวมถึง กทม.ต้องใช้เครื่องสูบน้ำต่อเข้าประปาหัวแดงเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำให้สายดับเพลิงร่วมด้วย

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ย่านตลาดคลองถม พบปัญหาสำคัญคือ พื้นที่ดังกล่าวเป็นของเอกชน ประปาหัวแดงและถังดับเพลิงถูกบดบัง ทำให้เจ้าหน้าที่มองไม่เห็น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องถังดับเพลิง และการใช้อุปกรณ์ถังดับเพลิง แนวทางแก้ไขต้องทำสัญลักษณ์จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงให้ชัดเจน ใช้งานง่าย และซักซ้อมประชาชนในพื้นที่ให้มีความพร้อมความเข้าใจการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง การอพยพ และการเข้า-ออกพื้นที่กรณีไฟไหม้ เนื่องจากย่านตลาดคลองถมเป็นย่านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มีร้านค้าหนาแน่น