ยุติธรรมอยุธยา บูรณาการมหกรรมแก้หนี้  สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 31 แก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชน

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 31 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก  ซึ่งได้รับความร่วมมือ จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  สถาบันการเงิน จำนวน 6 สถาบัน อาทิ  ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวิร์คเซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด


          วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  มอบหมายให้ นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรมครั้งที่ 31 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยมี นางสาวสุวดี ไหลพึ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงาน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวสุนันทา เธียรถาวร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลพบุรี  ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นางวีรา น้ำแก้วเงิน ผู้อำนวยการ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ  สถาบันการเงิน คณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน คณะกรรมการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน  ประชาชนผู้เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมฯ  ณ ชั้น เดอะฮอล์ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค

          นางสาวสุวดี ไหลพึ่งทอง   กล่าวว่า  มหกรรมแก้หนี้ฯ ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล  เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชน ทุกกลุ่ม โดยกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นการจัดงานครั้งที่ 31 ซึ่งได้รับความร่วมมือ จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงิน จำนวน 6 สถาบัน  ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวิร์คเซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด

          ทั้งนี้ภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเชิญชวนลูกหนี้ 1,800 ราย แบ่งเป็น การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จำนวน 1,000 ราย และการไกล่เกลี่ยหลังศาล มีคำพิพากษา จำนวน 800 ราย 2) กิจกรรมสร้างการรับรู้ทางกฎหมายและยุติธรรมพบประชาชนเพื่อร่วมถ่ายทอดการบริหารจัดการหนี้สิน การบริหารจัดการทางด้านเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาและหลีกเลี่ยงการมีภาระหนี้สินในอนาคต รวมถึงรับฟังแนวทางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และ 3) กิจกรรมจัดนิทรรศการ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กว่า 19 หน่วยงาน เข้าร่วมฯ