"อธิบดีราชทัณฑ์" แจง เรือนจำทั่วประเทศ ไม่ได้เริ่มสำรวจรายชื่อผู้ต้องขังเข้าเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษหมู่ใน "วันมหามงคล" ขอให้รอประกาศพระราชกฤษฎีกาก่อน ชี้ "ทักษิณ" ครบกำหนดพักโทษสิงหาฯ นี้ ขณะที่คนเสื้อแดงแห่รับ "ทักษิณ" เดินสายสุรินทร์ ด้าน "สามารถ" ห่วง "5 กกต." ลงมติรับรอง สว.ส่อติดคุก "สว.สายสีน้ำเงิน" ยังนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว ปมเฟ้นตัวประธานวุฒิฯ เร่งหารือข้อสรุป หวั่น สว.กลุ่มอื่นวิ่งล็อบบี้ฝุ่นตลบ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.67 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มอบ หมายให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์อาจได้รับการพระราชทานอภัยโทษ หากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด โดยจะเริ่มดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาแล้ว ที่สำคัญราชทัณฑ์ไม่สามารถดำเนินการก่อนได้ เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ และไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีประกาศกฤษฎีกาในช่วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำรายละเอียดกฤษฎีกา จากนั้นทางกรมราชทัณฑ์จึงจะนำรายละเอียดไปดำเนินการต่อ

ส่วนกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกคุมความประพฤติระยะเวลา 6 เดือนนั้น จะครบกำหนดการพักโทษในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเมื่อครบกำหนดการพักการลงโทษแล้วคือทางราชทัณฑ์จะดำเนินการออกใบบริสุทธิ์ให้ และทางกรมคุมประพฤติจะเป็นหน่วยงานรับเอกสารดังกล่าวเพื่อประสานกับผู้ถูกคุมประพฤติ เมื่อนายทักษิณครบกำหนดพักโทษก็จะได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน หรือเรียกว่าเป็นผู้พ้นโทษได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายได้ ไม่ต้องมาที่ราชทัณฑ์อีก

มีรายงานว่า หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษ อาจได้รับการปล่อยตัวก่อนถึงกำหนดพักโทษในช่วงปลายเดือนสิงหาคมก็เป็นได้

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า นายทักษิณได้เดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมือง กทม. มาถึงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เพื่อเป็นประธานงานอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 ที่วัดสุวรรณวิจิตร อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยพบว่าที่สนามบินบุรีรัมย์มีประชาชนรวมถึงคนเสื้อแดงเข้ามาผูกผ้าขาวม้าที่เอวและขอถ่ายภาพกับนายทักษิณเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ มีรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยมารอรับอาทิ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย นอกจากนี้ยังมี นางพวงเพ็ชร์ ชุณละเอียด อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และมีผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่งร่วมคณะ รวมถึงยังมี สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย มารอต้อนรับด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงกำหนดการว่า เมื่อนายทักษิณเดินทางไปถึงวัดสุวรรณวิจิตร อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นประธานพิธีอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 หลังเสร็จสิ้นจะเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงสี ส.ชัยเจริญ โดยเมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ช่วงบ่ายจะเดินทางไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายทักษิณเดินทางไปพื้นที่อีสานใต้ หลังจากกลับมาประเทศไทยด้วย

ด้าน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ชุดใหม่ ว่า ลุยไฟอย่างแท้จริง เป็นมติ 5-2 ตนคิดว่า 2 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับรองเป็นนักกฎหมายและรู้ดีว่าถ้ารับรองไปความวุ่นวายจะเกิดและสุดท้ายจะถูกแจ้งความดำเนินคดีเต็มไปหมด 2 คนนี้จะไม่ติดคุก แต่อีก 5 คนเตรียมตัว ที่ตนกล้าพูดแบบนี้ก็เพราะว่าก่อนที่คุณจะประกาศคุณก็บอกว่าให้ใบส้ม 1 คนคือ คนที่อยู่จังหวัดอ่างทอง ดังนั้นถ้าคุณบอกว่าเค้าไม่มีคุณสมบัติตั้งแต่ต้น แล้วที่เขาไปเลือกคนอื่น คนอื่นไม่โมฆะไปด้วยหรือ เพราะเขาขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น

การเลือกตั้ง สว.ปี 67 นี้ ต่างจากปี 43 ที่มีการรับรองไปก่อนแล้วมาตรวจสอบคุณสมบัติทีหลัง มันเป็นคนละกรณีกัน ตอนปี 43 ก็คือ สว. 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ปี 67 ผู้สมัคร สว.เลือกกันเอง ฉะนั้นคนที่คุณให้ใบส้มไปเลือกนายไก่ นายไข่ นายควาย แล้วปรากฏว่า นายไข่ นายควาย เข้าไปเป็น สว.ด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้เลือกเข้ามาไม่มีสิทธิตั้งแต่ต้น แล้วนายไข่ นายควาย ที่ได้เป็น สว.จากคะแนนของคนนี้จะทำอย่างไร แล้วคนที่เสียสิทธิ เพราะคนที่โดนใบส้มไม่ได้ไปเลือกเขา นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเขาถึงฟ้องร้องกันเต็มไปหมด

"ประเด็นของ สว.คนหนึ่งที่มีการใช้คำนำหน้าว่า ศาสตราจารย์ ผมคิดว่าเรื่องนี้เขาไม่ได้มองว่าจบสูงจบต่ำ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการโกหกคุณสมบัติ กกต. เขาไม่ได้ตรวจ เพราะให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง การที่จะมาบอกว่าแจ้งกับ กกต. แล้ว เขาไม่ได้ดู ไม่มีการรีเช็กว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วว่า เป็นเท็จเขาก็มาเอาทีหลัง การสอยทีหลังแบบนี้ ในกระบวนการเลือกตั้งแบบไขว้กันคนหนึ่งเลือกได้ 5 คน ดังนั้นหากมีการขาดคุณสมบัติเกิดขึ้น มันต้องไปทั้งยวง อย่างที่ผมบอกว่า มันคือผลไม้พิษ สุดท้ายเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งโมฆะกกต. ก็เตรียมตัวเข้าปิ้ง นอกจากจะมีการปฏิวัติและนิรโทษให้ กกต.ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่"
นายสามารถ กล่าวต่อว่า คงต้องไปรอดูว่าคดี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รอดหรือหลุด ถ้านายเศรษฐารอด คดีพรรคก้าวไกลถ้ายุบก็บรรลัย สภาผู้แทนราษฎรอาจจะไม่มี อาจจะกลายเป็น สนช.หรือไม่ ถึงมีการเติมเชื้อไฟเข้าไปมากขนาดนี้ นักการเมืองเขารู้กันหมดว่า 2 เดือนนี้ อย่าลงทุน เพราะกระบวนการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากนำเข้ามาพิจารณาในสภาฯเมื่อไหร่เดือดร้อนเมื่อนั้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการพิจารณาไม่กล้าฟันธงว่าจะนิรโทษกรรมให้คดี 112 หรือไม่ เพราะสุดท้ายกรรมาธิการชุดนี้คือ วิสามัญ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วต้องรายงานให้ที่ประชุมสภาฯทราบ ถึงตอนนั้นจะเป็นฟืนก้อนใหญ่ที่จะมาเติมเชื้อเพลิงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เรื่องนี้ทำให้ตนไม่อยากจะคิด

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเฟ้นตัวคนที่จะมานั่งตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า สำหรับ สว.ส่วนกลุ่มใหญ่ หรือ สว.สายสีน้ำเงิน ขณะนี้ยังนิ่งๆ เงียบ ไม่มีการหารือถ้าหาก นายมงคล สุระสัจจะ และพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ไม่พร้อมนั่งตำแหน่งประธานวุฒิสภา ก็ต้องมองหาคนอื่น หรือจะเอากันอย่างไร เพราะฉะนั้นกลุ่มใหญ่ก็ควรจะมีการหารือกันได้แล้ว ถ้าไม่มีการคุยกันอาจจะทำให้กลุ่มอื่นๆ ไม่มั่นใจ และอาจจะมีการวิ่งล็อบบี้กันฝุ่นตลบ เพราะทั้งนายมงคลและ พล.อ.เกรียงไกรเองตอนนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ หลังจากถูกกระแสโจมตี กดดัน ทั้งสว.ด้วยกันเอง และสังคม ดังนั้นเป็นไปได้ว่ากลุ่มใหญ่อาจจะต้องมีการพิจารณาหรือทบทวนได้แล้ว เพื่อให้ภาพลักษณ์ออกมาดีที่สุด

ด้าน นายนพดล พริ้งสกุล กลุ่ม 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนา นวัตกรรมหรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครทาบทามหรือติดต่อให้ไปลงคะแนนเสียงให้กับใคร มีแต่ทักมาทางไลน์ขอเป็นเพื่อน ตนเป็นสว.อิสระไม่อยู่กับใคร แต่ตนมีเพื่อนกับทุกคนที่คุยกับตน เพราะฉะนั้นตนอยากฟังวิสัยทัศน์ของคนที่จะมาเป็นประธานและรองประธานวุฒิสภาก่อนตัดสินใจ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง คนไหนที่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ก็จะเลือกคนนั้น