ไม่ปล่อยผ่าน! "เรืองไกร" ยกเหตุผล 6 ข้อ ส่งเรื่องจี้ "กกต." เร่งสอบเลือกตั้ง "นายกอบจ.ปทุมธานี" มีผู้ใดฝ่าฝืน ม.65 (3) (4) ม.126 วรรคสองหรือไม่ หลังเวลาล่วงเลยมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ข้อสรุป "สวนดุสิตโพล" มองเลือกตั้ง "นายกอบจ." บ้านใหญ่มีอิทธิพลส่งผลระดับชาติ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ที่ยังเป็นข่าวอยู่นั้น ในการเลือกตั้งดังกล่าวมีการร้องกล่าวหาผู้สมัครด้วย ตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิ.ย.67 รายละเอียดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรทราบดีแล้วนั้น การร้องผ่านมาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏข่าวการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่ามีผลเป็นประการใด ทั้งที่ตามพยานหลักฐานและเอกสารประกอบรวมทั้งภาพและคลิปในคำร้องดังกล่าว มีพอสมควร กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว
นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้กกต.ตรวจสอบตามใบรับคำร้อง อบจ.ปทุมธานี เลขที่ อบจ.1/2567 ดังต่อไปนี้ ข้อ 1.พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) และมาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่า "มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ .... (3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด" มาตรา 126 วรรคสอง บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 69 ต้องระวางโทษจ าคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ข้อ 2.เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.67 เว็บไซต์มติชน หัวข้อ บิ๊กแจ๊ส ร้องคู่แข่ง ชิงนายกปทุม ทำผิดกม. งานบวชที่ทักษิณมา เข้าข่ายจัดมหรสพชัด ช่วยหาเสียง ลงข่าวไว้บางส่วนดังนี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วัฒนา วงศ์จันทร์ ผู้ประสานงานผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกกต. เนื่องจากมีผู้สมัครนายกอบจ.ปทุมธานี คาดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง โดยมี นายกิตติ์ธเนศ จันวิวัธน์เวช รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน เพื่อตรวจสอบและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป
ข้อ 3.การร้องตามข่าวข้างต้นนั้น สนง.กกต.จว.ปทุมธานี ได้รับเอกสารคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ไว้แล้ว ตามใบรับคำร้องเลขที่ อบจ.1/2567 วันที่ 14 มิ.ย.2567 โดยผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องว่า เป็นการหาเสียงที่ฝ่าฝืน มาตรา 65 (3) และ (4) และไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ข้อ 16 และ ข้อ 23 (5) รายละเอียด กกต.ควรทราบแล้วนั้น
ข้อ 4.เนื่องจากคำร้องดังกล่าวมีการกล่าวหาบุคคลหลายคนและมีข้อเท็จจริงทั้งเอกสาร ภาพถ่าย และคลิปประกอบที่ชัดเจนพอควร แต่เวลาล่วงมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวมีผลเป็นประการใด อีกทั้งคำร้องดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงบทกำหนดโทษตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งรวมโทษที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี ไว้ด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นต้องร้อง กกต.ใช้ ม.106 เข้ามาดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องครบถ้วนตามตัวบทกฎหมายและเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย
ข้อ 5.จากการค้นหาใน google พบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 ซึ่งมีการย่อสั้นไว้ว่า "ในการโฆษณาหาเสียงของจำเลยทั้งสิบสองมีการเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึง บนรถยนต์บรรทุกในขบวนรถหาเสียง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มจาวเชียงคำยืนปราศรัยอยู่บนรถยนต์บรรทุกหกล้อ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ยืนอยู่บนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อขบวนรถหาเสียงเข้าพื้นที่เลือกตั้งเขตของตน การเล่นดนตรีพื้นบ้านประเภทสะล้อซอซึงในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นผู้สมัครกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตนเอง โดยทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงใดๆ"
ข้อ 6.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 และมาตรา 118 มีความคล้ายกันกับบทบัญญัติในมาตรา 65 และมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งรายละเอียด กกต.ทราบดีอยู่แล้วนั้น
นายเรืองไกร สรุปในท้ายหนังสือว่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้กกต.นำมาตรา 106 มาดำเนินการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีกับพวก ตามใบรับคำร้องที่ อบจ.1/2567 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2567 ว่ามีผู้ใดที่กระทำการหาเสียงที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 65 (3) และ (4) หรือไม่ และมีผู้ใดที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 126 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้นำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13545/2556 มาเป็นแนวทางในการตรวจสอบด้วย
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งนายก อบจ. จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,188 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค.67 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อถามประชาชนรู้หรือไม่ว่าช่วงนี้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งนายก อบจ.ในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.16 รู้ และทราบรายละเอียดการเลือกตั้ง ร้อยละ 36.95 รู้ แต่ไม่ทราบรายละเอียดการเลือกตั้ง และร้อยละ 21.89 ไม่รู้เลยว่ามีการเลือกตั้ง
ส่วนประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในด้านใดบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.76 การพัฒนาท้องถิ่น ร้อยละ 58.81 การพัฒนาสาธารณูปโภค ร้อยละ 55.68 การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงาน ร้อยละ 52.63การบริการสาธารณะ และร้อยละ 50.42 การดูแลสุขภาพและสาธารณสุข
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าตนเองและครอบครัวได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 39.14 ได้รับประโยชน์น้อย ร้อยละ 36.78ได้รับประโยชน์มาก ร้อยละ 18.02 ไม่ได้รับประโยชน์ และร้อยละ 6.06 ไม่แน่ใจ ส่วนประชาชนคิดว่า บ้านใหญ่ มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่มากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 62.21 มีอิทธิพลมาก ร้อยละ 18.86 มีอิทธิพลน้อย ร้อยละ 9.93 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 9 ไม่มีอิทธิพล เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.44 มีผล และร้อยละ 22.56 ไม่มีผล
ขณะที่ความเห็นประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 57.66 มี ร้อยละ 26.01 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 16.33 ไม่มี ท้ายที่สุดเมื่อถามในเรื่องการแก้ปัญหาท้องถิ่น ประชาชนเชื่อมั่นในพรรคใดมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 ก้าวไกล ร้อยละ 32.53 อันดับ 2 เพื่อไทย ร้อยละ 19.79 อัน 3 พลังประชารัฐ ร้อยละ 17.30 อันดับ 4 ภูมิใจไทย ร้อยละ 9.29 และอันดับ 5 ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.63