ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ธงรบ รื่นบรรเทิง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรนักบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 4 และ รุ่นที่ 5 ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถนักบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นนานาชาติ เข้าศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยอิวาเตะ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากท่านอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี คณาจารย์ และนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิวาเตะ

Prof.Dr.Ogawa Satoshi, President of Iwate university อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิวาเตะ ได้กล่าวทักทาย และต้อนรับคณะผู้บริหารดูงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ม.อิวาเตะ กับ มก. ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างกันในด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ไฟฟ้า และระบบสารสนเทศ มาตั้งแต่ปี 2014 และกล่าวอีกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญซึ่งจะขาดไปเสียมิได้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างนานาชาติกับ ม.อิวาเตะ และขอให้การเยี่ยมชม ม.อิวาเตะในครั้งนี้ของทีมผู้บริหาร มก.เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัยแน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมกล่าวขอบคุณ อ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ พิชญพิศุทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ ม.อิวาเตะ และนายกสมาคมศิษย์เก่า ม.อิวาเตะแห่งประเทศไทยในการประสานงานการมาเยี่ยมเยือน ดูงานของทีมผู้บริหาร มก.ในครั้งนี้

ผศ.ดร.ธงรบ รื่นบรรเทิง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ในฐานะตัวแทนของทีมผู้บริหาร มก.ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ม.อิวาเตะ และได้กล่าวคาดหวังว่าการเยี่ยมเยือนดูงานในครั้งนี้ของทีมผู้บริหาร มก. จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยน และสานสัมพันธ์อันดีระหว่างสองมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆเพิ่มขึ้นในอนาคต

ต่อจากนั้น Prof.Dr.Hayashi Akio, Vice president of Iwate university  นำเสนอหลักธรรมาภิบาลของ ม.อิวาเตะ กล่าวโดยสรุปว่า ม.อิวาเตะมีวิสัยทัศน์ระยะยาวไปจนถึงปี 2030 ม.แห่งนี้ได้อุทิศตนเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ และเป็นที่เคารพรัก รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากชุมชน โดยมีจรรยาบรรณมหาวิทยาลัย คือ การบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ (การคิด ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ) นอกจากนั้นยังกล่าวถึงโครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ โดยมีคณะกรรมการทั้งจากรัฐบาล และผู้ที่มาจากองค์กรภายนอกคอยกำกับดูแลอีกด้วย

จากนั้น Prof.Dr.Kimura Ken-ichi, Dean of The United Graduate School of Agricultural Science (UGAS)ได้บรรยายถึงหลักสูตรปริญญาเอกร่วม ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัยในเครือ คือ Iwate university, Hirosaki university, Yamagata university ที่ร่วมกันสร้างหลักสูตร ป.เอกทางด้านการเกษตรร่วมกัน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ให้กระจุกตัว และยังผลประโยชน์ให้ผู้เรียนเองได้รับความรู้จากคณาจารย์ต่างมหาวิทยาลัยในเครือที่มีความหลากหลาย

ท้ายที่สุด ตัวแทนนักศึกษา ปริญญาเอก ชาวไทย นาย Jirarit Jirasukprasert และ นักศึกษาปริญญาโท ชาวไทย นางสาว Yosita Anantawuth จากห้องวิจัย Prof.Dr.Tanaka Takamitsu ได้เป็นตัวแทนนักศึกษาบรรยายผลงานการวิจัยของตนเองในเรื่องเกี่ยวกับ Design media และ Product design

​​​​​​​

ข้อมูลพื้นฐานของ Iwate University: มหาวิทยาลัยอิวาเตะ: 岩手大学 

มหาวิทยาลัยอิวาเตะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล (National University : 国立大学) ตั้งอยู่ในเมืองโมริโอกะ (Morioka : 盛岡) เมืองหลวงของจังหวัดอิวาเตะ (Iwate Prefecture : 岩手県) โดยในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกมหาวิทยาลัยอิวาเตะว่า “อิวาเตะไดงักกุ” (Iwate Daigaku : 岩手大学) และมีชื่อย่อที่เป็นที่รู้จักของคนญี่ปุ่นในนาม “กันได” (Gandai : 岩大) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1876 ในนาม “โรงเรียนการเกษตรชั้นสูงแห่งโมริโอกะ” (Morioka Koutou Nourin Gakkou : 盛岡高等農林学校) ซึ่งถือว่าเป็น “โรงเรียนการเกษตรแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น” ต่อมาได้สถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 1949 ในนามว่า “มหาวิทยาลัยอิวาเตะ” ประกอบด้วยคณะทั้งหมด 4 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์, คณะเกษตรศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ โดยอาคารเรียนหลักในสมัยที่ยังเป็นโรงเรียนเกษตรชั้นสูงแห่งโมริโอกะนั้นยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม จนในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นทะเบียนอาคารเรียนสีเหลืองนวลแห่งนี้ขึ้นเป็น “มรดกสำคัญทางวัฒนธรรมของชาติ”  (National Important Cultural Property : 重要文化財) ในปี 1994  ซี่งอาคารหลังนี้ปัจจุบันได้กลายเป็นหอเอกสาร และข้อมูลสำคัญของมหาวิทยาลัยอิวาเตะ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมภายในได้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อดูมรดกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากอาคารเรียนสองชั้นแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนเกษตรแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นที่เรียนของนักปรัชญา กวี และนักประพันธ์ชื่อดังของญี่ปุ่น มิยาซาว่า เคนจิ (Miyazawa Kenji : 宮沢賢治) ซึ่งศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้ยาวนานถึง 6 ปี โดยสิ่งของ เครื่องใช้สมัยที่มายาซาว่า เคนจิเรียนอยู่อื่น ณ อาคารหลังนี้ บางส่วนยังคงถูกเก็บรักษา และจัดแสดงไว้ภายในตัวอาคาร