เผยแพร่ออกมาแล้ว สำหรับ “รายงานว่าด้วยอากาศโลก” หรือ “สเตท ออฟ โกลบอล แอร์ รีพอร์ต” ฉบับล่าสุดของ “สถาบันผลกระทบสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา” หรือ “เอชอีไอ” ซึ่งได้ร่วมมือกับ “องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูนิเซฟ” ในการศึกษาติดตามผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อประชาคมโลก โดยในการศึกษาติดตามข้างต้น ก็ยังได้จำแนกผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อเหล่าเด็กๆ เยาวชน อันเป็นอนาคตของโลกเราอีกด้วย

ผลการศึกษาตามที่รายงานระบุ ก็เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศ ได้กลายเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนประชาคมโลกในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ก็ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยทำให้มนุษย์เราต้องเสียชีวิตไปมากถึง 8.1 ล้านคนด้วยกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของการเสียชีวิตทั้งหมดของประชากรโลกเรา

โดยตัวเลขข้างต้น ก็ต้องบอกว่า เหตุปัจจัยจากมลพิษทางอากาศดังกล่าว แซงหน้าการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เหตุปัจจัยการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงผู้อดอยากหิวโหยด้วยนั้น แต่ละปีก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนรวมแล้วก็หลายล้านคนเช่นกัน

โดยสาเหตุที่มาจากภัยพิษของควันบุหรี่ ในแต่ละปีมากถึง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตเพราะรับ “ควันบุหรี่มือสอง” คือ ไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เอง แต่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ และสูดหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป มีตัวเลขมากถึง 1.3 ล้านคน ที่เหลือก็เป็นผู้สูบบุหรี่เอง

ส่วนการเสียชีวิตเพราะบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ในแต่ละปีก็มีจำนวนเฉลี่ย 7 – 8 ล้านคน แม้บางปี อาจจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 ล้านคน แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ราวๆ 7 – 8 ล้านคนต่อปี ซึ่งยังไล่ตามหลังการเสียชีวิตของมลพิษทางอากาศเป็นต้นเหตุอยู่ หากว่ากันตามอัตราเฉลี่ยในแต่ละปี

สะท้อนให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศนั้นน่าสะพรึงเพียงใด

อย่างไรก็ดี ที่น่าสะพรึงยิ่งกว่านั้น ก็คือในรายงานของ “สถาบันผลกระทบสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ” ซึ่งจัดทำร่วมกับ “องค์การกองทุนยูนิเซฟ” ระบุด้วยว่า ในจำนวนของผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศข้างต้นนั้น ปรากฏว่า เป็นเด็ก เยาวชน มิใช่น้อย

โดยในรายงานเปิดเผยว่า อากาศเป็นพิษ ปลิดชีวิตเด็กถึงวันละ 2,000 คนโดยเฉลี่ย

พร้อมกันนี้ ทางองค์การกองทุนยูนิเซฟ ยังระบุเสริมด้วยว่า เด็กผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องเสียชีวิตไปถึงวันละ 2,000 คน โดยเฉลี่ยเหล่านั้น ก็มีเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี หรือ 5 ขวบ รวมอยู่ด้วยว่า จนส่งผลให้แต่ละปี มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบนี้ เสียชีวิตสูงถึง 700,000 คน ซึ่งจากการศึกษาติดตามยังพบด้วยว่า ในจำนวนนี้ มีถึง 500,000 คน ที่ได้รับอากาศพิษจากภายในบ้าน ที่มีการปรุงอาหารโดยใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด เช่น ถ่านหิน ไม้ฟืน โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย

Photo : AFP

โดยการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดข้างต้น ก็ก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์ของอนุภาคขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “พีเอ็ม2.5” เมื่อสูดฝุ่นพิษจิ๋วขนาดนี้เข้าปอดไป ก็ส่งผลให้ต้องล้มป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ ตามมาสารพัด โดยที่แน่ๆ ก็คือ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด รวมไปถึงมะเร็งปอด นอกจากนี้ ก็ยังมีโรคที่เกี่ยวกับระบบอวัยวะหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด การส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสื่อมของระบบประสาท รวมไปถึงอวัยวะสมอง อาทิ โรคหลอดเลือดสมองก่อนทำให้ผู้ป่วยโรคร้ายเหล่านี้ ต้องเสียชีวิตไปในที่สุด

ส่วนมลพิษทางอากาศอื่นๆ นอกจากพีเอ็ม 2.5 นั้น ที่กลายเป็นเพชฌฆาตร้ายภัยเงียบของเด็กๆ และเยาวชนนั้น ก็ได้กลายก่อปัญหาสุขภาพ ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจตามมาด้วยเช่นกัน

ในรายงานฯ ยังระบุด้วยว่า จากตัวเลข 2,000 คนต่อวันนั้น ก็นับได้ว่า มลพิษทางอากาศ ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก ณ เวลานี้ โดยเป็นรองเพียง “โรคภาวะความดันโลหิตสูง” เท่านั้น ซึ่ง “โรคภาวะความดันโลหิตสูง” นั้น ยังคงรั้งแชมป์ ในฐานะผู้ก่อให้เกิดโรคร้ายแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองอุดตัน หรือแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นเสี่ยงสูงที่จะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรตามมาได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ก็มีคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ของมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีทีท่าว่าจะเลวร้ายหนัก และหนักขึ้นทุกปีนั้น ความเสี่ยงจากอากาศพิษ ก็อาจจะแซงหน้าโรคภาวะความดันโลหิตสูง ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ประชากรโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขึ้นไปเป็นแชมป์แทนก็ได้

ทว่า แม้สถานการณ์ของมลพิษทางอากาศที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ ก็ต้องบอกว่า เลวร้ายอย่างคณานับแล้ว เพราะมันได้สร้างผลกระทบมิใช่แต่เฉพาะผู้คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังลากยาวไปยังอนุชนรุ่นหลังๆ อีกต่างหากด้วย ซึ่งต้องมารับพิษภัยจากมลภาวะทางอากาศเหล่านี้ ทั้งๆ ที่พวกเขามิใช่เป็นผู้ก่อ

ในรายงานยังอ้างอิงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับภาครัฐ และระดับครัวเรือน

โดยในภาครัฐนั้น ต้องมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมันปิโตรเลียม และถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชน การสนับสนุนให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่นควันต่างๆ ไปสู่ชุมชน

เด็กๆ ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงปัญหามลภาวะทางอากาศ และมลภาวะอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยส่วนรวม (Photo : AFP)

ขณะที่ ภาคครัวเรือน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปรุงอาหาร ด้วยการจัดการเรื่องการทำอาหารนในพื้นที่อาคารปิด การเลี่ยงที่จะเชื้อเพลิงสกปรก หรือเผาไหม้ที่ไม่สะอาดในการปรุงอาหาร เพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันพิษจิ๋วแก่ผู้คนในบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้ ในรายงานยังอ้างอิงถึงประเทศที่ปรับเปลี่ยนการปรุงอาหารด้วยวิธีการข้างต้นว่า ช่วยลดความเสี่ยงของอัตราการเสียชีวิตในเด็กเล็กอันสืบเนื่องจากมลพิษทางอากาศในบ้านเรือนได้ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว จากการศึกษาติดตามตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ. 2543) เป็นต้นมา รวมถึงยังได้เรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีกำจัดซังตอต้นข้าวและพืชไร่อื่นๆ ในพื้นที่เกษตร แทนวิธีการเผา เพื่อลดมลพิษทางอากาศ