๏ ร่องรอยกองเกวียนได้เวียนผ่าน
ห้วยละหารเขาไม้ไพรสิงขร
ทอดยาวถนนป่าสนดอน
ระเบียงจรพลิ้วไหวไปบุรินทร์

๏ ทิ้งรอยก้าวทหารเคยผ่านศึก
ส่ำสะทึกก้องป่าพนาสิณฑ์
ฝีเท้าอาชาไนยคล้ายได้ยิน
ผ่านลมรินแผ่วโหมประโลมลาน

๏ ไม้สูงแซมตาวันคล้ายดั้นเมฆ
เหมือนว่าเศกป่าเขียวกรูเกรียวก้าน
ร่วงใบปรุงแผ่นดินถิ่นทะยาน
สะพรั่งบานป่าภูแห่งอู่ไพร

๏ นกร้องเรื่อยลมร่ายแห่งชายป่า
พงพีห่มพนาค่อยคล้อยไหล
กอดกิ่งเกี่ยวเลี้ยวพลางบนทางไกล
ดั่งเริงรำร่ายไม้ไว้คำควรญ

๏ ยังกอดกิ่งทิ้งกายค่อยคลายคลี่
ทิพย์วลีเกสรกำจรสวน
มือคนห่ามปลูกน้อมถนอมนวล
พรมลมหวนเพลงฉินได้ยินเพลิน

๏ ผีเสื้อแซมสลับเหมือนรับคลอ
ร่วงชะลอลำเพาภูเขาเขิน
ชวนชื่นชมจดจำลำเนาเนิน
ป่าสนระเบียงเดินงามแสนงาม๚

มหา สุรารินทร์

เซว่ยหยุนหลาง” หรือระเบียงสนเตียวหุย
10 มิถุนายน 2567 เวลา13.30น.

“เซว่ยหยุนหลาง” หรือระเบียงสนเตียวหุย ออกจากด่านเจียนเหมินกวนระเบียงทางต้นสนสองข้างทางจากอำเภอจื่อถง ขึ้นเหนือไปถึงอำเภอเจาฮว่า และลงใต้ไปเมืองล่างจง ตามเส้นทางร่องรอยกาลเวลาผ่านรอยล้อเกวียน กีบม้า และฝีเท้าของเหล่าทวยทหารหาญจ๊กก๊ก ได้รับการเรียกขานว่า “เซว่ยหยุนหลาง” หรือระเบียงสนเตียวหุย

อุทยานแห่งนี้มีประวัติการปลูกมาแต่สมัยจักรพรรดิจิ๋นซี เมื่อทรงรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวแล้ว โปรดให้สร้างเส้นทางม้าเร็วทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้ปลูกต้นสนเป็นแนวสองฝั่งเส้นทางให้ร่มเงา ต้นสนนี้อายุกว่า 2,000 กว่าปี ชาวบ้านเรียกว่า “หวงป๋อ” หรือ สนจักรพรรดิ

เมื่อกองทัพต่อมาเล่าปี่เข้าครองเสฉวน เตียวหุยเป็นเจ้าเมืองปาเส (ปัจจุบันคือเมืองล่างจง) ได้นำทหารกับชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นสน สร้างความร่มรื่นแก่สองข้างทาง จึงเป็นที่มาอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ระเบียงสวนสนเตียวหุย”

ระเบียงสวนสนแห่งนี้ได้รับความสำคัญอน่างเนื่องจนถึงปัจจุบันหลัง บรรดาต้นสนยังคงได้รับการอนุรักษ์และปลูกเพิ่มเติมต่อเนื่องได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้และโบราณสถานของประเทศ จากการสำเร็จต้นสน โบราณบนเส้นทางสายนี้ พบว่ายังคงเหลืออยู่มากถึง 12,351 ต้น

บ่ายวันนั้นถือคุ้มค่าได้มารับอากาศบริสุทธิ์ใครมาเที่ยวเส้นทางสามก๊กสายตะวันตกไม่ควรพลาด"เซว่ยหยุนหลาง” หรือระเบียงสนเตียวหุยเรื่องเล่ายังมีเยอะต้นสนระลึกบุคคลในประวัติศาสตร์ให้เพลิดเพลินเดินชม

ใครเป็นแฟนภาพยนตร์สามก๊ก1994ก็ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ถ่ายทำในตอนหนึ่งก่อนจ๊กก๊กจะล้มสลายในตอนเตงงายจะเดินทัพไปทางลัดอิมเป๋ง(เส้นทางอิมแป๋งอยู่อีกทางหนึ่งแต่อยู่มณฑลเสฉวน)

ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต - มหา สุรารินทร์

 

​​​​​​

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต 

#ชินวัฒน์ตั้งสุทธิจิต #มหาสุรารินทร์