นักวิขาการประมง สำนักงานประมงจังหวัดยะลา ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างปลา ตะกอนดิน ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางเคมี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หาสาเหตุการตายของปลานิลสายน้ำไหลเบตง ด้านเกษตรกรผู้ลี้ยงปลานิล รอบนี้ปลาตาย เกือบ 30,000 ตัว ความเสียหาย กว่า 10 ล้านบาท

วันที่ 13 กรกฎาคม 2567  นางจุไลวรรณ รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดยะลาได้มอบหมายให้นายประพัฒน์พงศ์ ทักษิณสัมพันธ์  นักวิขาการประมง สำนักงานประมงจังหวัดยะลา ลงพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านบ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อสำรวจแหล่งน้ำและสภาพพื้นที่การเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลเบตงของรายนายสันติชัย จงเกียรติขจร   เกษตรกรเลี้ยงปลานิล หลังได้รับความเสียหาย ปลาตาย กว่า 25,000 ตัว เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา และล่าสุดยังคงพบปลาบางส่วนลอยตายขึ้นมาในบ่อใหญ่และบ่อพักปลา โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดยะลา ได้เก็บตัวอย่างปลา ตะกอนดินเพิ่มเติม ไปตรวจวิเคราะห์ตรวจหาเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย ส่งให้ทางห้องปฎิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา เพื่อหาสาเหตุการตายของปลา ส่วนตัวอย่างน้ำ และ จะนำไปส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางเคมี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตรวจวิเคราะห์ประมาณ 3-5  วัน   หากดำเนินการตรวจวิเคราะห์แล้วเสร็จ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาจะดำเนินการประสานเรื่องผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวมายังสำนักงานประมงจังหวัดยะลาทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายประพัฒน์พงศ์ ทักษิณสัมพันธ์  นักวิขาการประมง สำนักงานประมงจังหวัดยะลา กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะทำงานส่งเสริมอาชีพและแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำและสภาพพื้นที่การเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลเบตง ของเกษตรกรเลี้ยงปลานิลมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา  ซึ่งวันนี้ตนได้เก็บตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างปลา และตะกอนดิมเพิ่มเติม  โดยจากการตรวจเบื้องต้น พบปลาบางส่วนยังมีอาการอ่อนแอ แต่ปลาภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในส่วนปลาที่เลี้ยงขนาดครึ่งกิโล ขนาด 6-7 ขีด และขนาด 1กิโลกรัมขึ้นไป โดยร่วมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีการกินอาหารที่ดีขึ้น แต่ในส่วนปลาที่อยู่ในบ่อพัก มีขนาดเฉลี่ยกิโลครึ่งถึง 2 กิโลกรัม มีอาการเกล็ดพอง เกล็ดจะมีลักษณะตกเลือด ปลามีอาการซึมๆ ปลาบางส่วนจะเริ่มว่ายน้ำเชื่องช้าที่ผิวน้ำ การว่ายน้ำควงสว่านไร้ทิศทางที่บริเวณผิวน้ำ  บางตัวมีอาการตาขุ่นออกมา  ลำตัวมีสีคล้ำ มีบาดแผลตามผิวหนัง เมื่อทำการผ่าตรวจดูภายนอก เนื้อปลาก็จะมีกลิ่นคาว เนื้อปลามีรอยช้ำ บริเวณเหงือกมีตะกอน  ซึ่งระหว่างการดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ทางเจ้าหน้าที่จะมีการติดต่อประสานกับเกษตรกรเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลเบตง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสันติชัย จงเกียรติขจร   เกษตรกรเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหล กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ปลาในบ่อตาย รอบนี้ตายไป 25,000 ตัว เกือบๆ 30,000 ตัว ส่วนตัวคาดว่า ปลาที่ตายมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างจากต้นน้ำ แล้วน้ำจากการก่อสร้างได้ไหลลงบ่อปลาของตน และผู้เลี้ยงปลาคนอื่นๆก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ประเมินความเสียหาย กว่า 10 ล้านบาท ซึ่งต้องขอขอบคุณทางสำนักงานประมงจังหวัดยะลา และคณะทำงานส่งเสริมอาชีพและแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลอย่างครบวงจรจังหวัดยะลา รวมถึง อบต.ตานะแมเราะ และทางอำเภอเบตง ที่ได้ร่วมบรูณาการลงพื้นที่หาสาเหตุการตายของปลานิลสายน้ำไหลในครั้งนี้