วันที่ 12 ก.ค. 2567 เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เสียงแตกกรณีรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ว่า ความเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายมีมาตั้งแต่วันแรกของการประชุม กมธ.แล้ว มีทั้งคนที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะไม่รับ คดีมาตรา 112 เข้ามาเลย และกลุ่มที่มองในลักษณะที่ควรเปิดโอกาสให้คนไม่ได้มีเจตนาตั้งใจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบัน ก็ควรจะนำมาพิจารณา คนที่โดนคดี มาตรา 112 มีจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะพยาบาทอาฆาตมาดร้ายจริง แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้ตั้งใจจะก่อให้เกิดความเสียหาย
"ส่วนตัวมองว่าควรพิจารณาเป็นแต่ละราย พร้อมยกตัวอย่าง กรณีคนที่แต่งชุดไทย แต่ถูกโทษจำคุก 3 ปี จึงมองได้ว่าเขาอาจจะพลั้งเผลอไป ถ้าให้โอกาสเขาได้กลับมาในสังคม เชื่อว่าเขาก็จะเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ดีกว่าไปติดคุก"
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองความผิด ในคดี มาตรา 112 นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนนี้ยังมีอยู่ในรายงานของ กมธ.ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะว่าควรจะมี แต่บางคนก็จะคิดว่าเรื่องคดี มาตรา 112 ควรแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งเลย ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่า คณะกรรมการดังกล่าว ก็ควรจะพิจารณาคดีที่ง่ายๆ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาด, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน), พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
"ต้องขอเรียนตรงๆ ว่า ในการประชุมทุกครั้ง กมธ.จะถูกถามว่า ตกลงแล้วจะเอาหรือไม่เอา มาตรา 112 แต่กมธ. ก็ยังไม่สามารถแถลงได้ชัดเจน ส่วนตัวลาออกแล้ว แต่ก็คิดว่า กมธ. ความมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ และเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า ถ้าไม่เอาก็บอกไปตรงๆ ว่า ไม่เอา กมธ. ควรจะมีความกล้าหาญในการชี้แจงกับสังคม ว่าจะรวมหรือไม่รวมคดี มาตรา 112 เพราะอะไร มีข้อยกเว้นอย่างไร" นางอังคณา กล่าว
เมื่อถามว่า กมธ. ได้มีกรอบเวลาไว้หรือไม่ว่า จะต้องการข้อยุติเมื่อใด นางอังคณา กล่าวว่า การพิจารณาก็ยืดเวลาออกไปครั้งละ 90 วัน เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องคดี มาตรา 112 ขณะที่กรณีของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หลายคนที่โดนยึดทรัพย์อยู่ ตอนนี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า น่าจะได้รับการนิรโทษกรรม เช่นเดียวกับคดีเล็กน้อยต่างๆ เหลือเพียงคดี มาตรา 112