วันที่ 12 ก.ค.67 นายธนกร วังบุญคงชนะ   สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยกมธ.ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ คดีมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว และ คดีที่มีความรุนแรง ตามมาตรา 289 ด้วยการลงมติได้  ว่า ตนขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาตามหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวด 2 มาตรา 6 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หากกรรมาธิการฝืนให้ลงมติให้คดีที่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้ได้รับการนิรโทษกรรม อาจเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า การที่กมธ.ไม่สามารถลงมติได้ว่าไม่รวมคดีที่มีความอ่อนไหวม.110 ม.112 และคดีร้ายแรง สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า ความจริงแล้วถ้ายึดหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงจารีตประเพณีรากเหง้าของประเทศแล้ว ตนเชื่อว่า กรรมาธิการจะไม่เสียงแตกแบบนี้ เพราะทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้วว่า หากเราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่มีประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งการจะนิรโทษกรรมผู้ที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะใช้ช่องทางอื่นเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

“แม้ว่ากมธ.นิรโทษกรรม ไม่มีข้อยุติเรื่องคดีม.110,112 โดยมีข้อสรุปให้ส่งเรื่องเสนอต่อสภาฯ และให้สส. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด ของการบัญญัติเป็นกฎหมายก็ตาม ผมมองว่า การที่กมธ.ไม่ชี้ชัด ไม่มีข้อสรุปว่าจะไม่รวมคดีอ่อนไหวในการนิรโทษกรรมนั้น ก็ทำให้สังคมคิดได้ว่า เป็นการอะลุ่มอะล่วย เห็นด้วยในการกระทำผิดโดยปริยายหรือไม่ ส่วนตัวขอคัดค้าน และหากถูกเสนอกฎหมายเข้าสภาฯ ผมและสส.พรรครวมไทยสร้างชาติก็จะลงมติไม่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษฯให้คนหมิ่นสถาบัน และเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็รับไม่ได้เช่นกัน” นายธนกร กล่าว