กองทัพเรือขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพชนทหารเรือ
บทความ : วิกฤตการณ์ ร.ศ.112: การรบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระหว่างไทย - ฝรั่งเศส
“ฝรั่งเศสคือเพื่อนแท้ที่ไทยวางใจและพึ่งพิงกว่าชาติอื่นใด”
ข้อความดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบทความ “พระราชสาส์นส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 ถึงกงสุลฝรั่งเศสชี้นโยบายโปรฝรั่งเศสเมื่อต้นรัชกาล” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2559
ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฝรั่งเศส มีความเป็นมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้ส่งราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ (พุทธศักราช 2229) ทั้งนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่องจวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และสิ้นสุดลงด้วยความบาดหมางกินใจและไม่ไว้วางใจกัน เนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (สงครามฝรั่งเศส – สยาม) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามให้กับปรัสเซีย เมื่อปีพุทธศักราช 2414 กลายเป็นแรงผลักดันให้ฝรั่งเศสพยายามที่จะแสวงหาความมั่งคั่งจากดินแดนตะวันออกไกล เพื่อลดทอนกระแสการเสื่อมความนิยมของประชาชนภายในประเทศของตน ฝรั่งเศสจึงมุ่งสู่การขยายอิทธิพลเข้าสู่จีนตอนใต้ เพื่อแข่งขันกับอังกฤษ โดยอาศัยฐานของสหภาพอินโดจีนที่ฝรั่งเศสสามารถพิชิตดินแดนของเวียดนามได้ทั้งหมด และผนวกเขมรส่วนนอกที่แย่งชิงจากสยามมาได้เมื่อปีพุทธศักราช 2410
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พุทธศักราช 2436) เกิดจากการที่ไทยถูกฝรั่งเศสคุกคามอธิปไตยอย่างหนัก แม้จะยอมเสียดินแดนทั้งเขมรและสิบสองจุไทยให้กับฝรั่งเศสแล้วก็ตาม แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมหยุดยั้งการคุกคามเพื่อจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาเป็นของตน โดยใช้กำลังเรือรบล่วงเข้ามาในน่านน้ำไทย เพื่อบังคับให้ไทยยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตลอดจนเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำโขงของประเทศฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและกำลังพระทัยเพื่อแก้ปัญหาและหาวิธีปกป้องอธิปไตยของชาติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนัก ประกอบกับทรงหวั่นเกรงไปถึงการเสียเอกราชของชาติ จึงทำให้ทรงทุกข์ร้อนแสนสาหัสถึงกับทรงพระประชวร อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี จึงทรงเร่งรัดให้เตรียมการรักษาพระนครอย่างเร่งด่วน เช่น การสร้างป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า เพื่อเป็นด่านแรกที่จะยับยั้งข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ดังพระราชดำริของพระองค์ที่ว่า
“ถ้าศัตรูหลุดพ้นปากน้ำขึ้นไปได้แล้ว การป้องกันทั้งปวงเห็นเป็นอันยากยิ่งนัก ยังไม่มีความเชื่อถือในกำลังที่จะป้องกันภายในทั้งทางบกทางเรือเลย”
ในปีพุทธศักราช 2421 จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หลวงชลยุทธโยธิน (ชาวเดนมาร์ก) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการทหารมะรีน (นาวิกโยธิน) ออกแบบเขียนผังป้อมตามแบบป้อมทันสมัยของตะวันตก และเริ่มสร้างเมื่อพุทธศักราช 2427 โดยใช้เงินรายได้แผ่นดิน ซึ่งไม่เพียงพอ เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาหลายด้านพร้อมกัน รวมทั้งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล พระองค์จึงได้ พระราชทานเงินจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
“…ฉันได้ตั้งไว้ว่าจะให้หมื่นชั่ง เมื่อเงินเหลือจากทำการก่อสร้างจะได้ใช้ซื้อสตราวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับป้อมนั้นให้บริบูรร์ ขอให้ท่านเสนาบดีทั้วงปวงในที่ประชุมได้กะการ พร้อมด้วยพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ แลพระยาชลยุทธโยธินให้ได้ลงมือทำงานและสั่งของโดยเร็ววันที่สุด ที่จะทำได้เพราะตัวเงินนี้มีพร้อมอยู่ที่จะจ่ายได้เมื่อใดทุกเมื่อ”
ต่อมาป้อมปืนแห่งใหม่ของสยามได้สร้างเรียบร้อยในปีพุทธศักราช 2436 (ร.ศ.112) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อเสด็จทอดพระเนตรป้อม ในวันที่ 10 เมษายน 2436 และได้ทรงพระราชทานนามป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ซึ่งต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริให้สั่งซื้อปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาดปากลํากล้อง 6 นิ้ว จํานวน 7 กระบอก จากบริษัท เซอร์ ดับบลิว จี อาร์มสตรอง จํากัด มาติดตั้งอยู่ในหลุมปืน ซึ่งเป็นปืนใหญ่บรรจุท้ายชุดแรก ที่กองทัพเรือไทยเป็นเจ้าของปืนกระสุนหนักนัดละเกือบ 50 กิโลกรัม มีระยะยิงไกลสุด 8,042 เมตร ทั้งนี้ พลเรือโทพระยาวิจิตรนาวี ผู้ควบคุมการติดตั้งปืนใหญ่ประจําป้อม และร้อยเอก ฟอน โฮลต์ เป็นครูสอนวิชาปืนใหญ่ และเป็นผู้บังคับการป้อมคนแรก นอกจากนี้การยิงปืนดังกล่าวต้องใช้แรงน้ำมันอัดยกปืนให้โผล่พื้นหลุม โดยเมื่อยิงกระสุนพ้นลำกล้องไปแล้ว ปืนจะลดตัวลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม คนไทยจึงขนานนามว่า “ปืนเสือหมอบ”
หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ทุกประการ กล่าวคือ เมื่อไทยไม่ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ.112 ฝรั่งเศสจึงนำเรือรบสองลำ ชื่อเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ มุ่งหน้าเข้ามาที่กรุงเทพพระมหานคร เพื่อสมทบกับเรือลูแตงที่เข้ามาจอดอยู่ก่อนหน้า ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยเห็นว่าฝรั่งเศสล่วงละเมิดสิทธิแห่งสนธิสัญญาปีคริสต์ศักราช 1856 รัฐบาลไทยจึงยอมไม่ได้ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการเป็นข้อปฏิบัติขั้นเด็ดขาดว่า
“หากเรือของฝรั่งเศสล่วงล้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ให้ฝ่ายไทยเริ่มยิงปืนใหญ่เตือนด้วยกระสุนดินเปล่า ตามแนวปฏิบัติของสากล และหากยังไม่เชื่อฟังจะยิงด้วยกระสุนที่บรรจุดินปืนต่อไป”
จากนั้นเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ได้มาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ขณะนั้นฝ่ายไทยมีเรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือหาญหักศัตรู และเรือทูลกระหม่อม จอดระวังการณ์อยู่ที่แนวป้องกัน พร้อมทั้งมีทหารประจำการอยู่ในป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร แม้ว่าผู้แทนฝ่ายไทย ได้ขึ้นไปเจรจากับผู้บังคับการบนเรือรบฝรั่งเศส แต่ก็ไร้ผล เพราะเรือฝรั่งเศสยังคงแล่นผ่านสันดอนปากน้ำเข้ามาโดยมีเรือ เจ เบ เซย์ เป็นเรือนำร่อง การต่อสู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอุบัติขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำลังแสนยานุภาพของสองประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ คือเรือโกแมตและเรือแองคองสตังค์สามารถแล่นล่วงเข้ามาจอด ณ บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ท่ามกลางความสงัดเงียบวังเวงแห่งรัตติกาล ต่อมาเหตุการณ์สู้รบในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 หนังสือพิมพ์ของอังกฤษที่ออก ณ กรุงเทพมหานคร รายงานข่าวในเวลาต่อมาว่า ทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 41 นาย และหายสาบสูญ 1 นาย ส่วนฝ่ายทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศสไปเพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้การยุทธ์ของกองทัพไทย ตลอดจนทำให้ประเทศไทย (สยามในขณะนั้น) ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบทเรียนอันมีค่า ที่จะต้องรีบเร่งปรับปรุงทั้งองค์วัตถุและบุคลากร
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาวิชาด้านการปกครอง การทหารบก และการทหารเรือ ณ ประเทศในทวีปยุโรป เพื่อนำวิชามาปรับปรุงประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยประเทศ ในโอกาสนี้ทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษเป็นพระองค์แรก และทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นพระราชโอรสพระองค์แรก ที่เป็นนายทหารเรือที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ต่อมาในพุทธศักราช 2449 (ร.ศ.125) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสร็จมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนนายเรือ ร.ศ.125” (ปัจจุบันคือ โรงเรียนนายเรือ) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ดังนี้
“วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เห็นทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไปในภายหน้า”
เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ร.ศ.112 กองทัพเรือได้จัดงาน “วันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112” ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ระหว่างเวลา 08.00 – 10.30 น. ประกอบด้วย พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีสดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 พิธีสงฆ์ และพิธีรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในโอกาสนี้ กองทัพเรือขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพชนทหารเรือ ในวันและเวลาดังกล่าว
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ