ดนตรี/ ทิวา สาระจูฑะ

อิเมจิน ดรากอนส์ ตามหลัง เดอะ คิลเลอร์ส วงดนตรีดังรุ่นพี่ ออกจากลาส เวกัส, เนวาด้า สู่ระดับโลก แต่พวกเขาประสบความสำเร็จใหญ่โตกว่านับแต่ออกอัลบั้มแรก Night Visions (2012) ตามด้วย Smoke + Mirrors (2015), Evolve (2017), Origins (2018) และ Mercury – Acts 1 & 2 (2022) และมีซิงเกิ้ลอันดับ 1 ถึง 5 เพลง คือ "Radioactive" and "Demons""Believer", "Thunder", "Whatever It Takes" และ "Natural"

อิเมจิน ดรากอนส์ ขายอัลบั้มได้มากกว่า 74 ล้านชุด และเพลงดิจิทัล 65 ล้านเพลง มีการสตรีมเพลง 160 พันล้านสตรีม หนึ่งในวงที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดมากที่สุด

Loom อัลบั้มจากสตูดิโอชุดที่ 6 ของ อิเมจิน ดรากอนส์ และเป็นอัลบั้มแรกที่เหลือสมาชิกอยู่ 3 คน คือ แดน เรย์โนลส์ นักร้องนำ, เวย์น เซอร์ม่อน มือกีตาร์ และ เบน แม็คกี มือเบสส์ คนที่ขาดหายไปโดยไม่ได้แจ้งสาเหตุคือ แดเนียล แพล็ทซแมน มือกลอง อัลบั้มนี้ร่วมกันโปรดิวซ์ระหว่างวงและ แม็ทท์ แอนด์ โรบิน คู่นักแต่งเพลง/โปรดิวเซอร์สวีดิชที่อยู่เบื้องหลังผลงานของศิลปินมากมาย และร่วมงานกับ อิเมจิน ดรากอนส์ มาตั้งแต่อัลบั้มที่ 3

เดอะ คิลเลอร์ส มีอิทธิพลทางดนตรีต่อ อิเมจิน ดรากอนส์ แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกัน ขณะที่ เดอะ คิลเลอร์ส เป็นวงร็อกที่มีบทบาทของคีย์บอร์ด/ซินธิไซเซอร์กลมกลืนกันไป เนื้อหาที่ค่อนข้างจริงจัง แต่สำหรับ อิเมจิน ดรากอนส์ จะเรียกว่า ‘ร็อค’ ก็พูดเขินปาก เพราะพวกเขามาในแนวเทคโน-ป็อปที่เจือด้วยซาวนด์แบบฮิป-ฮ็อป และเน้หนักในการใช้คีย์บอร์ด/ซินธิไซเซอร์มากกว่า และอัลบั้ม Loom ยังยึดมั่นอยู่ในแนวทางนี้ เพียงแต่ใส่ความใหม่เข้าไปในเสียงเดิมของตนเพิ่มขึ้น

อัลบั้มเปิดด้วยสไตล์เท็คโน-ป็อปที่ทำให้วงเป็นที่รู้จักด้วย “Wake Up” เพลงเต้น เนื้อเพลงน่างุนงง แต่ก็ดูเหมือนไม่สำคัญอะไร เพราะเจตนาเอาสนุกอยู่แล้ว เสียงร้องท้ายเพลงขาดห้วนไปเฉยๆเหมือนเพลงไม่ยังจบ ซึ่งมีอีกสองสามเพลงในอัลบั้มที่ตัดจบค่อนข้างห้วน  

“Nice to Meet You” เต้นกันต่อ คราวนี้มาในลีลาแบบยุคฮัสเซิลปลายทศวรรษ 1970 ใส่กลิ่นฮิป-ฮ็อปบางๆ ฟังง่าย ชัดเจนว่าตั้งใจให้เปิดตามคลับบาร์

“Eyes Closed” เป็นซิงเกิ้ลที่ได้รับความนิยมไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ดนตรีอาร์แอนด์บี/ฮิป-ฮ็อปในโทนอิเล็คทริค เรื่องของคนที่อยากปิดทุกอย่างจากการรับรู้ บางทีอาจจะประชดคำวิจารณ์ที่พวกเขาได้รับ

“Take Me to the Beach” เทคโน-ป็อปชวนเต้นอีกเพลง เนื้อคล้ายต่อเนื่องกับเพลงที่แล้ว เป็นประเด็นยอดนิยมของยุคนี้ คือการหนีจากโลกของการทำงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

“In Your Corner” ขึ้นด้วยซินธิบรรยากาศลึกลับ, เสียงร้อง และกลองโปรแกรม เรื่องที่ชวนสลดหดหู่ของการสูญเสียความสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งขณะที่ยังรักและห่วงใยอยู่ ทำนองไพเราะ เรียบเรียงดนตรีดีมาก เสียงร้องประสานเยี่ยม

“Gods Don’t Pray” จังหวะโยกกลางๆ ผสมระหว่างฮิป-ฮอปกับเทคโน-ป็อป สะท้อนสังคมยุคโซเชี่ยล มีเดียที่ยกย่องอวยกันจนบางคนเหมือนพระเจ้า หนุนให้ผู้คนห่างจากการบูชาอย่างไร้จุดหมาย น่าจะเป็นหนึ่งเพลงเด่นที่สุดของอัลบั้ม แต่แฟนของวงอาจจะไม่ค่อยชอบ

“Don’t Forget Me” เพลงช้าเพลงแรกของอัลบั้ม เป็นบัลลาดที่เกี่ยวกับสัมพันธ์ที่เลิกร้าง แต่ยังถวิลหาไม่เลิกรา เรย์โนลด์ส ร้องคำว่า “don’t forget me” ถึง 10 ครั้งในเพลงที่ยาวแค่ 3 นาทีเศษ

“Kid” หยิบเอาซาวนด์คล้ายดนตรีร็อกแบบอัลเทอร์ฯบวกฮิป-ฮ็อปในทศวรรษ 1990 นึกถึงวง กอริลลาซ เป็นตัวอย่างได้ ทำให้รู้สึกแตกต่างจากเพลงทั้งหมด เนื้อปลุกเร้าความกล้าในใจของคนรุ่นใหม่

“Fire in These Hills” เพลงรักที่สูญเสียอีกเช่นเคย เหมือนจับเอาลีลานักร้อง-นักแต่งเพลงป็อปรุ่นใหม่ อย่าง เดอร์ม็อท เคนเนดี้, ดีน ลูว์อิส หรือ เบนตัน บูน มาใช้

อัลบั้มปิดด้วยอีกเวอร์ชันของ “Eyes Closed” เอามามิกซ์เสียงร้องใหม่ และได้ศิลปินดังจากโคลัมเบีย เจ. บาลวิน เจ้าของฉายา ‘เจ้าชายแห่งเร็กเกตัน’ มาร่วมร้อง

Loom ยังมีสุ้มเสียงจากอัลบั้มเก่าๆของ อิเมจิน ดรากอนส์ แต่มาปรับปรุงบางอย่างให้มีลูกเล่นทางดนตรีมากขึ้น จุดแข็งของพวกเขาคือ การทำเพลงที่มีทำนองไพเราะติดหู ง่ายต่อการฟังและติดตาม แต่ก็จะหว่านเพื่อแตะไปทุกแบบของเพลงที่ยังได้รับความนิยมอยู่ในกระแส

ดังนั้น เพียง 9 เพลงในอัลบั้มนี้กับความยาว 28 นาที กำลังดีแล้ว เพราะถ้ามากกว่านี้อาจจะกลายเป็นเลี่ยนได้ง่ายๆ อย่างว่าแหละ เป็นเซียนป๊อปมันก็ต้องป็อป จะให้ไปทำอย่างอื่นได้ยังไง และ LOOM ก็บอกชัดอีกครั้งว่า ถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ในทางป็อป หาคนเทียบ อิเมจิน ดรากอนส์ ยากจริงๆ