ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

นิพพานคือหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่เกิดหรือดับอีกต่อไป แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้?

“หลวงพี่เกษม” เป็นนักศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ช่วงที่มาเรียนกับผมอยู่ในช่วง “ปฏิรูปการเมือง” คือกำลังมีการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศไทยให้ดีขึ้น หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายที่กรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม 2535 กระทั่งได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใน พ.ศ. 2540 ตามมาด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒสภาใน พ.ศ. 2543 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน พ.ศ. 2544 ตามลำดับ

 สมัยนั้น มสธ. ถูกเรียกว่า “มหาวิทยาลัยทีวี” เพราะนอกเหนือจากจะมีการส่งเอกสารการเรียนให้ทางไปรษณีย์แล้ว นักศึกษายังต้องติดตามเข้าไปเรียนกับอาจารย์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ วิชาผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่นักศึกษาชอบมากที่สุด (ปัจจุบันได้ใช้การสอนทางอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อหลักอีกทางหนึ่งด้วย หลายคนจึงเรียก มสธ.ว่า “มหาวิทยาลัยมือถือ”) ในขณะเดียวกันในวิชาที่สำคัญ ๆ หรือเป็นวิชาพื้นฐาน ทางมหาวิทยาลัยก็จะจัดอาจารย์ออกไปสอนตาม “ศูนย์ มสธ.” ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางหรือมีนักศึกษามาก ๆ ในแต่ละภูมิภาค เรียกว่า “การสอนเสริม” โดยใช้โรงเรียนประจำจังหวัดในจังหวัดนั้น ๆ เป็นห้องเรียน ซึ่งนักศึกษาก็ชอบมากเช่นกัน เพราะนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนกับอาจารย์ “ตัวเป็น ๆ” แล้ว นักศึกษาที่เป็น “แฟนคลับ” ของอาจารย์บางคนทางโทรทัศน์ ก็จะได้มาสัมผัสตัวจริงของเขา(หรือเธอ) โดยเฉพาะนักศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์ หลายคนนั้นชื่นชอบการเมืองถึงขั้น “เข้าไส้” ก็อยากมา “ถกแถลง” หรือ “ถามตอบ - โต้เถียง” กับอาจารย์จริง ๆ ให้ถึงอกถึงใจ

ทว่าหลวงพี่เกษมไม่ใช่นักศึกษาตามแบบที่ว่า เพราะถ้าใครที่อยากจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ผู้สอน ก็มักจะมาจองที่นั่งด้านหน้า ๆ ให้ใกล้ชิดกับอาจารย์มากที่สุด แต่หลวงพี่เกษมกลับชอบนั่งด้านหลัง ในมุมที่เหมือนว่าจะอยู่ไกลที่สุด และไม่เคยเห็นท่านยกมือขึ้นถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด ๆ เลย (จนเมื่อผมได้ชี้มือไปถามท่านในครั้งหนึ่งว่าเป็นเพราะเหตุใด โดยคำตอบที่ท่านบอกก็น่าสนใจมาก ดังที่จะได้กล่าวถึงในเวลาที่สมควร) แต่ท่านก็มาเรียนในทุกครั้งที่มีการสอนเสริม และมาเรียนในทุก ๆ วิชาที่เปิดสอน จนจบการศึกษา โดยท่านใช้เวลาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด คือสี่ปีตามมาตรฐานของทุกมหาวิทยาลัย

ในเทอมสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาที่เหลือชุดวิชาที่ยังจะต้องเรียน 3 ชุดสุดท้าย ให้มาเข้ารับการอบรมก่อนจบ ตามแบบที่มหาวิทยาลัยเรียกว่า “การอบรมเสริมประสบการณ์วิชาชีพ” เนื่องจากตลอดเวลาที่เรียน นักศึกษาไม่ได้พบเจอกับใคร ๆ เลย (นอกจากเวลาที่ไปปฐมนิเทศ ไปเรียนสอนเสริม และไปสอบ ที่จะได้พบก็แค่อาจารย์และเจ้าหน้าที่จาก มสธ.บางคน และเพื่อนนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น) การมาอบรมจึงเป็นการให้นักศึกษาได้สัมผัส “ชีวิตแบบนักศึกษา” เพราะต้องมาอยู่กินนอนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นเวลา 5 วันกับอีก 4 คืน เพื่อให้เกิด “สปิริต” ของความเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ได้เป็นเพื่อนร่วมรุ่น(อบรม) จนถึงเป็น “สายเลือดร่วมสถาบัน” (อย่างที่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็น “เลือดสีชมพู” หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็น “เลือดเหลืองแดง” เป็นต้น) โดยหลวงพี่เกษมแม้จะเป็นพระ ก็ต้องมาร่วมอบรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็จะแยกสถานที่สำหรับ “จำวัด” ให้เป็นกรณีพิเศษ (โดยทั่วไปก็คือพักในที่มาอบรมนั่นแหละ แต่มีเพื่อนร่วมห้องเป็นพระภิกษุด้วยกัน)

เมื่อมาอบรมและต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “แสดงออก” นั่นก็หมายถึงว่า หลวงพี่เกษมก็ต้องอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ได้ อย่างเช่น ในการแนะนำตัวเพื่อให้เพื่อน ๆ นักศึกษาด้วยกันได้รู้จัก ท่านก็ต้องออกมาหน้าห้อง บอกชื่อ พร้อมกับเล่าประวัติย่อ ๆ และคติพจน์ประจำตัวให้เพื่อน ๆ ได้ทราบ ตอนแรกท่านก็อิด ๆ ออด ๆ เหมือนจะพูดไม่ได้ พอคะยั้นคะยออีกหน่อย ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวจะอาบัติ ไม่สำรวม สุดท้ายต้องบอกว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการอบรม มีคะแนนและต้องประเมินผล ท่านจึงยอมให้ความร่วมมือ และหลังจากนั้นท่านก็ไม่อิดออดอะไรอีกเลย ทั้งยังให้ความร่วมมืออย่างกระฉับกระเฉง จนกลายเป็นคนละคนไปเลย อ้อ ที่ผมรู้ละเอียดอย่างนี้ ก็เพราะผมเป็นวิทยากรประจำกลุ่มของนักศึกษาที่มีหลวงพี่เกษมนี้ร่วมอยู่ในกลุ่มด้วยนั่นเอง

ตลอด 5 วัน 4 คืน หลวงพี่เกษมดูจะมีความสุขมาก ภาพของนักศึกษาที่มานั่งเรียนอยู่หลังห้องในทุกวิชาและทุกภาคที่ผมไปสอน ที่ศูนย์ มสธ.ในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ยังปรากฏให้เห็นถึงความ “ไม่มีตัวตน” ของท่าน ด้วยความที่ท่านชอบนั่งอยู่ไกล ๆ หลังห้อง ซึ่งก็มักจะมีแสงน้อยอยู่อีกด้วย ช่างแตกต่างกับภาพของหลวงพี่เกษม “อีกท่าน” ที่มารับการอบรมอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะช่างดูมีชีวิตชีวา “มีตัวตนมาก ๆ” หน้าตาของท่านก็สดใส รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ไม่เฉพาะแต่ในกลุ่มของท่าน แต่รวมไปถึงเพื่อนนักศึกษาทั้งหมดในกลุ่มอื่น ๆ จำนวนกว่า 500 คนนั้นด้วย จนเมื่อในกิจกรรมสุดท้ายของวันสุดท้าย คือ “ปัจฉิมนิเทศ” ที่ต้องมีพิธีอำลาจากกันและปิดการอบรม ในการมอบดอกไม้แก่คณาจารย์ที่จัดกันอยู่เป็นปกติแล้ว ยังมีนักศึกษาจำนวนหลายสิบคนที่นำพวงมาลัยดอกมะลิมาถวายบูชาท่านเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงที่การรวบรวมปัจจัยคนละเล็กละน้อย ใส่ซองมาถวายเป็น “สังฆบูชา” ร่วมทำบุญกับท่านและวัดของท่านอีกด้วย

ผมไปรอส่งท่านที่หน้าตึกที่จัดอบรม ผมยังจำสีหน้าของหลวงพี่เกษมได้ว่า ได้เปลี่ยนเป็นอีกใบหน้าหนึ่งในทันที คือเป็นหน้าอันเต็มไปด้วยความเศร้า และดูเหมือนว่าจะมีความกังวลอยู่มากมาย ด้วยน้ำเสียงที่ท่านบอกลาว่า “โยมอาจารย์ไปเยี่ยมอาตมาที่วัดบ้างนะ”

เทอมต่อมาผมได้ไปสอนที่จังหวัดนั้นอีกครั้ง และไม่ลืมที่จะไปเยี่ยมท่าน ไม่ใช่เพราะทำตามที่ท่านสั่งลาไว้ แต่เพราะมีความ “ตะขิดตะขวงใจ” สงสัยอะไรบางอย่าง ในภาพสุดท้ายบนใบหน้าของท่านเมื่อวันปิดการอบรมนั้น อยากไปดูให้หายสงสัยว่าท่านยังอยู่สบายดีไหม และที่ท่าน “เศร้าเกิน” ในวันนั้นเป็นเพราะเรื่องอะไร ดังนั้นพอสอนเสร็จในตอนบ่าย ผมก็เรียก “สกายแล็ป” หรือรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างรับส่งโดยสาร อันเป็นที่นิยมของเมืองชายทะเลแห่งนั้น ไปยังวัดที่หลวงพี่เกษมอยู่ในทันที

วัดที่หลวงพี่เกษมอยู่เป็นวัดขนาดกลาง ๆ ตั้งอยู่ใกล้ตลาดและชุมชนชาวบ้าน ในวัดร่มรื่นพอสมควร มีหมาแมวอยู่ตามทางเดินและซอกมุมต่าง ๆ หลายตัว น่าจะเป็นที่ชาวบ้านเอามาปล่อยให้พระเลี้ยงดู แต่ก็ยังมีไก่ฝูงใหญ่อยู่ด้านหน้าทางเข้ากุฏิ นี่น่าจะเป็นพระเอามาเลี้ยงเอง เพราะไม่ใช้ธรรมเนียมที่ชาวบ้านจะเอาไก่มาปล่อยในวัดแบบนี้ เมื่อสอบถามพระแก่ ๆ รูปหนึ่งที่กำลังกวาดถนนอยู่ตรงนั้น ท่านก็บอกว่าแต่แรกก็มีพระรูปหนึ่งคิดถึงบ้าน เอาไก่มาเลี้ยงคู่หนึ่ง ต่อมาก็ออกลูกออกหลาน และยังคงอยู่ที่นี่ต่อมาหลายรุ่นหลายครอกแล้ว แม้ว่าพระหนุ่มรูปนั้นจะลาสิกขาไปแล้ว แต่พระอื่น ๆ ก็ยังช่วยกันเลี้ยงต่อ ๆ มา ที่ดีมาก ๆ ก็คือ ไก่ตัวผู้ขันเสียงดังดีมาก เอาไว้เป็นนาฬิกาเวลาที่ต้องตื่นและออกบิณฑบาตเช้า ๆ

 กุฏิของหลวงพี่เกษมอยู่ข้างหลังสุด ติดกับด้านหลังของตลาดพอดี แต่ก็มีต้นมะม่วงและมะพร้าวปลูกชิดแนวกำแพงวัดบังตึกแถวเหล่านั้นไว้ กุฏิเล็ก ๆ สองชั้นเก่า ๆ ก่อด้วยอิฐทาสีออกเหลือง ๆ หม่น ๆ หลังคากระเบื้องว่าวไม่แน่ชัดว่าสีอะไร เพราะเปรอะไปด้วยคราบฝุ่นและขี้ผงที่ปลิวมาทับถมกับรอยชะล้างของน้ำฝนและสายลมตามฤดูกาล หลวงพี่เกษมมานั่งรออยู่หน้ากุฏิชั้นบนนั้นแล้ว เพราะผมโทรมาล่วงหน้าตั้งแต่เช้า เมื่อเห็นผมก็ดูจะมีสีหน้าแช่มชื่นเล็กน้อย แต่กระนั้นก็ไม่อาจกลบเกลื่อนความเศร้างบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังนั้นได้

 ผมมารู้ในวันนั้นเองว่า การมาบวชของท่านเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก มีทั้งส่วนที่ท่านตั้งใจมาบวชเอง และ “ส่วนอื่น ๆ” ที่ “โน้มนำ” ท่านมา