ประกาศอย่างเป็นทางการในการตัดวงจร แอปพลิเคชันเพื่อขโมยเงิน หรือ แอปดูดเงิน (Mobile Banking Trojan) ซึ่งทาง “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) ฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เดินหน้ารับมือภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ยกระดับมาตรการเข้มงวดสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน
ทั้งนี้จากสถิติระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 65 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 67 พบว่า แอปดูดเงิน สร้างความสูญเสียเงินไปกว่า 2,600 ล้าน จึงกลายเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความรู้ให้กับประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยี่อภัยไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และสถาบันการเงิน ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหา และรับมือกับภัยคุกคามอย่างทันท่วงที อาทิ ระงับการเชื่อมต่อไปยังแอปดูดเงิน ตัดวงจรการเชื่อมต่อระบบการควบคุมของมิจฉาชีพ และหยุดการโอนเงินของมิจฉาชีพผ่านระบบ Mobile Banking รวมทั้งป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน สร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน
ล่าสุดทางสำนักงานกสทช. “พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร” กรรมการกสทช. ,นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. และพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (เลขาธิการ สกมช.) ลงพื้นที่จัดกิจกรรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” ให้ความรู้ประชาชน และนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ณ ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) โรงเรียนชลประทานผาแตก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 ก.ค. 2567 โดยมี นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอดอยสะเก็ด และผู้บริหารโรงเรียนชลประทานผาแตก เข้าร่วม พร้อมถ่ายทอดการจัดกิจกรรมออกไปยังศูนย์ USO Net จำนวน 153 แห่ง มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,600 คน
พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคม และความมั่นคงของรัฐ ได้มีการกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมกับประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว รวมทั้งร่วมกันสร้างการรับรู้ให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพที่ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นภัยใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น กิจกรรมนี้จึงเป็นการใช้ศูนย์ USO NET ที่มีอยู่ 2,184 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่คนในพื้นที่ เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) นอกจากการส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน การผลักดันบริการโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วถึงในพื้นที่ ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ต่ำ หรือพื้นที่ห่างไกล ก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายการส่งเสริมสิทธิ และลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ประชาชน และเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยครั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับ สกมช. ใช้ศูนย์ USO NET เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้าใจง่าย เน้นการเรียนรู้ในรูปแบบทฤษฎีและปฏิบัติ จำลองตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุดให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 8 ครั้ง ซึ่ง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในแผนดำเนินการ คาดว่ากิจกรรมนี้จะสามารถให้ความรู้แก่ประชาชน และเด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ได้ส่วนหนึ่ง
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการอบรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” ผ่านศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) เป็นความร่วมมือระหว่าง สกมช. กับ สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา การถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นถึงความรุนแรง รวมถึงสร้างความเสียหาย แก่ประชาชนทั้งทรัพย์สินและบางครั้งรุนแรงถึงชีวิต จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ที่จะร่วมกันสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านแพลตฟอร์ม “NCSA MOOC” โดย จ.เชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นจังหวัดที่ 2 ที่ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการผ่านศูนย์ USO Net ของโรงเรียนชลประทานผาแตก จ.เชียงใหม่ ถือเป็นโอกาส ที่ได้ขยายองค์ความรู้สู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งโครงการอบรมนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงผลักดันเป้าหมายที่จะเสริมภูมิคุ้มกันคนไทยทั่วทุกภูมิภาคให้ได้ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์อย่างมีความสุขและปลอดภัย
ปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการขยายศูนย์ USO Net จำนวน 2,184 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม พร้อมทั้งได้มีโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน
“แอปดูดเงิน” ภัยไซเบอร์ร้ายแรงระดับชาติ ที่หน่วยงานรัฐ- เอกชน เร่งแก้ปัญหา! ประชาชนก็ต้องศึกษาให้ดี รู้เท่าทัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างกลยุทธ์เพื่อหลอก! จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ “สูญเงิน-เสียใจ”