เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” อาจไม่ใช่ “เซฟโซน” สำหรับ “เศรษฐา ทวีสิน” ทั้งที่เขาคือ “นายกรัฐมนตรี” ที่มาจาก “แคนดิเดต” ของเพื่อไทย  นั่นหมายความว่า นอกเหนือไปจากที่ นายกฯเศรษฐา ต้องรับมือ “ศึกนอก” ทั้ง ฝ่ายค้านและสาธารณชน ที่ยังไม่พึงพอใจผลงานของรัฐบาลแล้ว

 ยังกลายเป็นว่า นายกฯเศรษฐา ยังต้องหันกลับมาตอบคำถามภายในพรรค ทำความเข้าใจกับสส.เพื่อไทยที่คล้ายกับว่า มีความเคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านเสียเอง

การบริหารงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ใกล้ครบ1ปี แต่ปรากฏว่า “คะแนนนิยม” ของพรรคและตัวนายกฯเศรษฐา ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควรจะเป็น

การสำรวจของโพลหลายสำนักต่อความพึงพอใจผลงานรัฐบาล มีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก อีกทั้งยังมีกระแสเรียกร้อง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯคนที่ 29 ในท่วงทำนองว่า ในยุครัฐบาล “ลุงตู่” ประชาชนยังไม่ลำบากเท่ากับวันนี้

ดังนั้นหมายความว่า เมื่อเลือก “เศรษฐา”  ก็ยังไม่ได้เป็น “เศรษฐี” ตามที่พรรคเพื่อไทยชูนโยบายหาเสียงเอาไว้ !

นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย คือการแจกเงิน 1หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตคือความหวังของพรรคเพื่อไทยที่มั่นใจว่า จะทำให้ “ความเชื่อมั่น” จากประชาชน คืนกลับมาให้กับพรรคและตัวนายกฯเศรษฐา

 แต่ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายดังกล่าวยังมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่กระทรวงการคลัง ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาอีก  และน่าสนใจว่าเรื่องนี้อาจต้องผ่านสายตา “วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตัวนายกฯเศรษฐา ไปเชิญมาช่วยเรื่องข้อกฎหมายด้วยตัวเองก่อนหน้านี้

ทว่ากว่า “เงินหมื่น” จะถึงมือ คนไทย 50 ล้านคนที่มีอายุเกิน 16 ปีตามที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ ก็ต้องไปรอลุ้นกันเอาในราวปลายปี ช่วงไตรมาสที่ 4 เลย ซึ่งยังไม่มีใครการันตีได้ว่า ไทม์ไลน์จะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ แต่ในระหว่างนี้ “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาลที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน คือการทำอย่างไรเพื่อให้ “เศรษฐกิจไทย” ไม่ต้อง “ตกสะเก็ด”   ราคาสินค้า พุ่งแซงหน้า “ค่าแรงขั้นต่ำ”

แน่นอนว่า เมื่อพรรคเพื่อไทย ชูความเป็นมืออาชีพด้าน “เศรษฐกิจ” ย่อมถูกคาดหวัง และรับแรงกดดันอย่างหนักตามมา

ล่าสุดการออกมาแสดงความไม่พอใจของ คนในพรรคเดียวกันอย่าง “วรชัย เหมะ” ที่ปรึกษารองนายกฯและอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ผ่านสื่อกระแทกไปถึง นายกฯเศรษฐา ชนิดที่ไม่เกรงใจว่านายกฯเอาแต่ลงพื้นที่ แต่ไม่มีผลงาน นายกฯควรเข้าไปทำงานที่ทำเนียบฯให้มากขึ้น

“ อยากให้นายกฯ แบ่งเวลาการลงพื้นที่มานั่งทำงานที่ทำเนียบฯ เรียกข้าราชการมารายงานความคืบหน้านโยบาย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันลงพื้นที่โดยไม่เหลียวแลหลัง”  (6 ก.ค.67)

 เมื่อวรชัย ฟาดนายกฯเศรษฐา ปรากฏว่าเกิด “เกาเหลาชามใหญ่” ขึ้นในพรรคเพื่อไทย ตามมา เมื่อ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์  เลิศสุริย์เดช  เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมาสวนคืนว่า วรชัยไม่มีความใกล้ชิดกับการทำงานของนายกรัฐมนตรี

 หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สส.ในพรรคเพื่อไทย ก็เคยออกแรง “เขย่า” นายกฯเศรษฐา อย่างหนักมาแล้วเมื่อครั้งที่ไปเชิญ วิษณุ อดีตมือกฎหมายสมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  เมื่อราวต้นเดือนมิ.ย.67 ที่ผ่านมา  เพราะสส.ในพรรคต่างไม่พอใจ และส่งสัญญาณชัดเจน เพราะมองว่าวิษณุ จะเป็น “ไส้ศึก” ตัวแทนจากขั้วอำนาจเก่า หรือไม่

แต่ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนั้น จบลงที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกโรง “ปราม” ลูกพรรคด้วยตัวเองโดยขอให้สส.ทุกคนสบายใจ เนื่องจากวิษณุ ก็เคยทำงานกับรัฐบาลไทยรักไทย มาก่อน ที่สำคัญรัฐบาลต้องการสร้างผลงานขับเคลื่อนนโยบาย เรื่องระเบียบราชการการบริหารราชการเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องที่ปรึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเรามีคนเก่งมาร่วมงานจึงเป็นเรื่องที่ดี

“ ขอให้ทุกคนเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน และขอให้สามัคคีกัน ช่วยกันสนับสนุนของนายเศรษฐา เราต้องร่วมมือกัน จึงจะฝ่าฟันปัญหาไปได้ เพราะหากนายกรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้ พรรคร่วมก็อยู่ไม่ได้ สภาก็อยู่ไม่ได้” (4 มิ.ย.67)

 ศึกนอกที่ว่าหนักหนา ยังไม่สาหัส เท่ากับแรงต้าน แรงเสียดทานจาก “คนกันเอง” ที่สส.เพื่อไทย  พร้อมที่จะ “เขย่า” นายกฯที่ชื่อเศรษฐา ได้ตลอดเวลา  ซึ่งน่าจะทำให้ “เสียงปราม” จาก แพทองธาร คงไม่เพียงพอแล้วกระมัง คงต้อง “พึ่งพา” เจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้า ลงมาด้วยตัวเอง !