ใครเลยจะคาดคิดว่าเมื่อเกิดแลนด์ไสลด์ “สายสีน้ำเงิน” ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แทนที่จะเป็น “สีแดง”และ “สีส้ม” อย่างที่ประหวั่นพรั่นพรึงกันแล้ว  แต่หนทางสู่สัปปายะสภาสถานของว่าที่สว.ทั้ง 200 คน ทว่าผ่านฉลุยเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้เคยดูเหมือนเต็มไปด้วยขวากหนามอันแหลมคม!!            

ท่ามกลางอาการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ที่ยกเรื่องร้องเรียนกว่า 600 กว่าเรื่องมาเป็นเหตุผลในการที่ยังไม่สามารถประกาศรับรอง สว.ใหม่ได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้คือ  3 กรกฎาคม 2567 เกิดสภาวะที่ว่า “สว.เก่าไม่ไป สว.ใหม่ไม่มา”

 เมื่อโฟกัสมาที่กกต. สารพัดคมหอกคมดาบ หันมาจ่อที่คอหอย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาแฉโพยฮั้วเลือกสว.  หรือสว.จัดตั้ง จากบรรดาสว.ในกลุ่ม40 สว. ไม่เท่านั้นบรรดาผู้สมัครสว.อกหักก็พาเหรดกันไปร้องเรียนต่ออัยการสูงและศาลปกครอง ที่อาจลามไปถึงองค์กรอื่นๆ กันอีนุงตุงนัง ดังกล่าว   โดยเฉพาะการตั้งธงจะร้องเรียนต่อการทำงานของกกต.โดยตรง ในความผิดตามมาตรา 157 หากปล่อยผีสว. สร้างความลำบากใจให้กับกกต.

โดยมีรายงานว่า  ในการประชุมกกต.เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมามีการตั้งแท่นให้ที่ประชุมรับรองสว.ทั้ง 200 คนและสำรองอีก 100 คนไปก่อน แต่ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงกัน โดยกกต.รายหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดัวกล่าว โดยต้องการให้มีความชัดเจนเรื่องร้องเรียน หรือควรเอาหลังพิงศาล และทอดระยะเวลาออกไป  เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องซ้ำรอยอดีตกกต. ที่เคยต้องคดีอาญา

ขณะเดียวกันก็เกิดแรงกระเพื่อมออกมาจากหลายฝ่าย ที่กดดันให้กระบวนการขับเคลื่อนไปข้างหน้า  ทั้งจากนักวิชาการ และสส.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล  รวมทั้งว่าที่สว.ชุดใหม่ ที่ขู่ว่าอาจจะเป็นฝ่ายร้องกกต.บ้าง

“แม้จะมีข้อครหา แต่ กกต.ควรจะเร่งประกาศรับรองผล เพราะหากต้องรอให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทุกคนอาจต้องรอข้ามปี จะยิ่งเป็นการลากยาวให้กับ สว.ชุดปัจจุบัน” ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในวงเสวนาราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่”  

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างที่รอการประกาศรับรองจาก “กกต.” นั้น ปรากฏว่ามีรายงานว่า กกต.มีการประสานงานสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ให้จัดเตรียมสถานที่ให้ว่าที่สว. เพื่อเตรียมรับการรายงานตัวในวันที่ 7 กรกฎาคม และเตรียมห้องทำงานให้กับสว.ชุดใหม่ ที่ทำให้มีเสียงสว.ชุดปัจจุบันไม่พอใจการเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่เหมือนพวกเขาถูกไล่

 และตามมาด้วยปฏิบัติการเรียกประชุมด่วนของ สว.ชุดปัจจุบันในวันที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งทำให้เกิดวิวาทะระหว่าง ว่าที่สว.ใหม่ กับสว.ชุดปัจจุบัน เรื่อง “มารยาท”

“ไม่แน่ใจว่าส.ว.ชุดรักษาการจะเกิดมาขยันอะไรตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้พบว่าทำอะไรสักเท่าไหร่ ตอนนี้น่าจะเปิดให้เป็นเวลาของส.ว.คณะใหม่เข้ามาได้แล้ว และโดยมารยาทการเลือกได้สิ้นสุดลงแล้ว หมดวาระหน้าที่ของส.ว.ชุดปัจจุบันแล้ว ควรจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว เป็นหน้าที่ของชุดใหม่ ” นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่สว.ระบุ

ทำให้ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.ชุดเฉพาะกาลออกมาตอบโต้ ว่า “จะประชุมกันเพื่อเสนอความเห็นเป็นรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานของรัฐได้นำไปพิจารณาปรับปรุงการได้มาของ สว.ในอนาคต ให้ได้ สว.ที่ดีมีคุณภาพและรู้จักเคารพคนอื่น(อันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย)มันเสียมารยาทตรงไหน ต่อใครและอย่างไร?” พร้อมติด #ใครกันแน่ที่ไม่มีความรู้และไม่มีมารยาทโดยแท้

ขณะที่ในเวลาต่อมาที่ประชุมวุฒิสภาก็มีการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบการเลือกสว. มีกรอบระยะเวลาการทำงาน 30 วัน ด้วยมติ 101 เสียง ต่อ  10 เสียง และงดออกเสียงอีก 17 เสียง

โดยในที่ประชุมสว. สมชาย แสวงการ สว.ผู้เสนอญัตติดังกล่าว เสนอให้กกต.เปิดหีบนับคะแนนใหม่ และถ้าพบมีกลิ่นทุจริตจริง ต้องจัดเลือกสว.ใหม่ ดังนั้น สว. ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ต่อไปจนวันสุดท้าย

“ขอยืนยันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่มีเจตนาที่จะยื้อเวลาในการอยู่ดำรงตำแหน่งต่อ สว.ชุดปัจจุบัน ได้เก็บของคืนกุญแจทั้งหมดแล้ว แต่ยังต้องทำหน้าที่อยู่ต่อไปเสมือนแพทย์ฉุกเฉิน ตราบใดที่ยังไม่มีแพทย์มาเปลี่ยนก็ต้องรักษาคนไข้ต่อไป”

ขณะที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว.ชุดเฉพาะกาลอภิปรายฝากถึงสว.ชุดใหม่ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ กกต.รับรองและประกาศในราชกิจจาฯ เท่านั้น ดังนั้นว่าที่ สว.ใหม่บางท่านที่มาตำหนิติเตียน สว. กรุณาหุบปากเดี๋ยวนี้ เพราะ หน้าที่ใครเป็นหน้าที่ใคร

“ยินดีที่จะให้ว่าที่ สว.ใหม่ มาปฏิบัติหน้าที่ แต่ย้ำว่าให้ทำอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่หากไม่ตรงไปตรงมา บอกได้เพียงว่าอาจจะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่”

แต่ในฝั่งของสว.ที่ไม่เห็นด้วยก็มี คือ   เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปราย โดยตั้งคำถามกลางที่ประชุมว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ สว.ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีสว.ใหม่ การทำหน้าที่ระหว่างไม่มีสว.ใหม่ ต้องอยู่รอเพื่อทำหน้าที่ เท่าที่จำเป็น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะการเลือก สว. กฎหมายเขียนชัดเจนให้คนที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ห้ามเข้าไปยุ่ง ต้องระวังเพราะมีกฎหมายเป็นโทษทางอาญา “ผมไม่อยาก เมื่อพ้นจาก สว. แล้วมีคดีอาญาติดตัว”

ทั้งนี้ “เสรี”ยังยืนยันว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสว. นั้นให้อำนาจไว้ในมาตรา 62 มาตรา 63 ให้อำนาจ กกต. ประกาศรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้

“ไม่เอากลุ่มสีน้ำเงิน จะเอากลุ่มสีส้มหรือ หรือ สีแดง หากจะเอากลุ่มที่พอใจ ไม่มีทางจบได้ ทั้งนี้การเลือกไม่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับ”

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในที่ประชุมสว.เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม มีสว.ถึง 121 คนไม่เข้าร่วมลงมติดังกล่าว จากสว.ทั้งหมด 249 คนที่เพิ่งลาออกไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1 คน สะท้อนว่าในสว.ชุดปัจจุบันเองก็เสียงแตก แม้จะมีความพยายามตามตัวให้มาร่วมโหวต แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผล โดยมีรายงานว่า สว.กลุ่มดังกล่าวนั้น ไม่ต้องการให้เกิดภาพความขัดแย้งเพื่อนสมาชิกด้วยกันเอง  และไม่ต้องการขัดแย้งกับองค์กรอิสระรวมทั้งว่าที่สว.ชุดใหม่

แม้จะมีรายงานข่าวออกมา อ้างเหตุผลที่สว.ชุดเฉพาะกาลจะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อ อย่างน้อยคือในสิงหาคม  เนื่องจากจะมีบรรดากรรมการขององค์กรอิสระ ที่จะพ้นวาระไป โดยในเดือนกันยายนนี้  จะมีกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 4 คน  และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 1 คน

 ขณะที่ในเดือนพฤษจิกายน จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ้นตำแหน่ง 2 คน และในเดือนธันวาคม มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นวาระอีก 2 คน

รวมทั้งในเรื่องของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่หากกกต.รับรองสว.ชุดใหม่ จะทำให้สว.ชุดเฉพาะกาลสิ้นสภาพแล้วระหว่างนั้นหากศาลชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็จะเกิดปัญหาหรือเดดล็อกทางการเมือง  

กระนั้น ฉากทัศน์ที่น่าสยองขวัญต่างๆ ดูเหมือนจะไร้ผล เมื่อที่สุด “กกต.”ตัดสินใจลุยไฟไม่สนใจจะมีชนักตามมาปักหลัง  ประกาศรับรองสว. 200 คนและสำรองอีก 99  คนผ่านฉลุย ไม่ปล่อยให้ทอดเวลาออกไป

หักด่านทฤษฎี 3 ล้ม “ล้มรัฐบาล ล้มก้าวไกล และล้มเลือกสว.” !!

 ณ จุดนี้ สว.สายสีน้ำเงินได้ไปต่อ แม้หนทางข้างหน้า ยังไม่อาจคาดเดาวิบากกรรมในอนาคตได้ทั้งต่อตัวสว.เอง และกกต. นับเป็นอีกสัญญาณการเมืองที่การต่อสู้ทางการเมือง และดุลอำนาจจะยิ่งเข้มข้นจนอย่ากะพริบตา