ม.หอการค้าระบุเหตุความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะความกังวลการเมืองขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังพอมีลุ้นการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่น
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.67 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน มิ.ย.2567 อยู่ที่ 58.9 ปรับตัวลดลงจากเดือน พ.ค.2567 ที่ระดับ 60.5 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงระดับ 44.1 เป็น 42.8 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 มาอยู่ที่ระดับ 66.7
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.6 56.1 และ 67.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน พ.ค.2567 ที่อยู่ในระดับ 54.3 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น แต่คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้