อนุทินนำทัพ มท. และ อว. ใช้ “ววน. แก้จน” บริหารจัดการน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่เป็นครั้งแรก โดยมี ‘สกสว.’ เป็นโซ่ข้อกลาง น้อมน้ำแนวพระราชดำริร่วมกับระบบและองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมยกระดับอาชีพให้ชุมชน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่” ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในระดับพื้นที่ โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ลงนาม
ความร่วมมือดังกล่าวทั้งสองกระทรวงได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกับการใช้ระบบและองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การบริหารจัดการน้ำและยกระดับอาชีพให้กับชุมชน อันนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำท่วม น้ำแล้ง และแผนหลักด้านน้ำระดับพื้นที่ ผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจังหวัดต่อไป เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ยกระดับการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงยุทธศาสตร์จังหวัดภายใต้กระทรวงมหาดไทย ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือแก้จน และช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม โดยจะร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการน้ำ ผ่านคลินิกน้ำของกระทรวง อว. เพื่อพัฒนากลไกถ่ายทอดและพัฒนาบุคคลากร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ บนฐานของข้อมูล ความรู้และความเสี่ยง ที่เชื่อมโยงกับลุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนดำเนินงานเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม แม้เราจะมีหน่วยงานส่วนกลางเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติงาน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายและนวัตกรรมต่าง ๆ ไปปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในพื้นที่ ซึ่งเราจะต้องทำให้สำเร็จ และทำงานเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายด้วยเทคนิคและความรู้ใหม่ ๆ ที่จะได้จากความร่วมมือกับ อว. ในวันนี้เรามาร่วมกันแสดงพลังและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศของเรา ขอให้ความร่วมมือในวันนี้เป็นหมุดหมายของความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ อันจะยังประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ขณะที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว.ได้บูรณาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนานโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว.เข้าไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานวิจัย เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ การพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือที่ช่วยแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง โดรนสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำ และการพัฒนาระบบจัดการน้ำอัจฉริยะที่ควบคุมและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น สกสว.จะเป็นโซ่ข้อกลางในการจัดสรรงบประมาณผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัย โดยหวังว่าเราจะร่วมกันสร้างสรรค์อนาคตประเทศไทยด้วยการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน
ด้านผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า สกสว.ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ จึงสนับสนุนงบประมาณทั้งทุนสนับสนุนงานมูลฐานเพื่อสร้างความเข้มแข็งตามพันธกิจหน่วยงาน และทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดสรรงบประมาณตามแผนงานสำคัญและแผนงานย่อย เพื่อการวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ในปี 2567 ยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ มุ่งบูรณาการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนและหน่วยงานที่มีพันธกิจการวิจัยเรื่องน้ำทั้งในและนอกกระทรวง อว. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับการบริหารจัดการน้ำทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤติของประเทศให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสริมว่า การบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์ “แผนงานบริหารจัดการน้ำ” จะมุ่งไปที่คลินิก อว. 4 ด้าน ได้แก่ 1) คลินิกพัฒนาคน เกิด smart people ทั้งเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ อปท. ชลประทาน 2) คลินิกสารสนเทศ มีระบบสารสนเทศน้ำชุมชนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ใช้น้ำอย่างประหยัด เกิดผลกระทบสูงสุด 3) คลินิกน้ำ ได้แผนน้ำชุมชนเชื่อมโยงกับแผนน้ำจังหวัด 4) คลินิกเกษตร เกิดรูปธรรมในการสร้างรายได้แก้จนสู่สังคมแห่งความสุข โดยมีเป้าหมายลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15 ผ่านการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการชุมชนที่นำไปสู่การจัดการน้ำร่วมกันในทุกระดับ ภายใต้แนวคิด “ลดภัย ลดความเสียหาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย”