สส.รัฐบาลจับมือฝ่ายค้าน ยื่นญัตติด่วนถอดบทเรียน “ไฟไหม้ตรอกโพธิ์” สส.ก้าวไกล จี้ นายกฯ เยียวยาให้เร็วที่สุด โอดยิ่งช้าเท่ากับการ “ซ้ำเติม” ด้าน “ธีรรัตน์” ย้ำ “เยาวราช” คือยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ต้องเร่งฟื้นฟู ยกเหตุการณ์ “หมิงตี้”เทียบ ยังดีประชาชนช่วยกันเอง
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาวาระการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ที่เยาวราช โดยนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ นอกจากนี้ ยังมีญัตติด่วน เรื่อง พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบกรณีเหตุเพลิงไหม้ชุมชนแออัดและชุมชนเก่าในกรุงเทพมหานคร น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ และญัตติทำนองเดี่ยวกัน ซึ่งยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ จำนวน 1 ญัตติ เพื่อขอให้สภาฯพิจารณาและส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป
โดยนายปารเมศ เสนอหลักการ โดยเปิดภาพวินาทีไฟไหม้ตรอกโพธิ์ พร้อมระบุว่าในอนาคตอาจจะไม่เคราะห์ดีเช่นนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีผู้ประสบภัย 344 ราย 198 ครอบครัว 66 ครัวเรือน ตนต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งตนได้มีโอกาสพูดคุยกับคนหลายคนที่ประสบภัย เราต้องสูญเสียบ้านในความทรงจำ ได้แต่มอง ไม่สามารถทำอะไรได้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลด และทำให้เราหวนคิดถึงการรับมือกับภัยพิบัติอย่างจริงจัง โดยชุมชนตรอกโพธิ์นี้ เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 60 ปี การเข้าถึงพื้นที่ในชุมชนทำได้ลำบาก ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าพื้นที่ได้ยาก เพราะพื้นที่เป็นชุมชนแออัด ตนจึงอยากให้ถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เพราะกทม.เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจที่คนอยู่กว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก แต่จากสถิติการเกิดอัคคีภัย ในระยะเวลา 6 เดือนกว่าจำนวนเหตุเพลิงไหม้ใกล้เคียงกับปี 2566 ทั้งปี ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ตทั้งนี้เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้ากทม.ได้เต็มที่ตามข้อจำกัดด้วยตนเอง จึงอยากเรียกร้องให้นายกฯลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นปัญหาระดับประเทศ
นายปารเมศ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการสื่อสาร ที่ผ่านมายังไม่มีการประสานงานแบบศูนย์กลาง จึงขาดความแม่นยำ รวดเร็วและถูกต้อง เช่น หากเกิดเหตุ รถจากหลายหน่วยงานจะกรูกันเข้ามา หรือการช่วยเหลือประชาชน เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือประชาชนซ้ำซ้อน ทำให้เสี่ยงต่อตัวเจ้าหน้าที่ด้วย ดังนั้นเราควรตั้งศูนย์ประสานงานที่มีประสิทธิภาพ และอยากทวงถาม นายกฯ ที่ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ในการเยียวยาผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด แต่ปัจจุบันยังล่าช้า ตนเข้าใจว่ากระบวนการต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่เอกสารสิทธิต่างๆ ไหม้ไปกับเพลิงในบ้านเขาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตนจะทวงถาม ติดตาม เร่งรัดให้กับผู้ประสบภัยทุกท่าน เพราะการเยียวยาที่ล่าช้าถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย
ด้านน.ส.ธีรรัตน์ อภิปรายย้อนเหตุการณ์ระเบิดโรงงานสารเคมีหมิงตี้ ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง ตนไปดูที่เกิดเหตุจึงเกิดความคิดว่าหากไม่ป้องกันเพียงพอก็จะเกิดความเสียหายมหาศาล ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดที่ชุมชนตรอกโพธิ์ ปัญหาคือการเข้าถึงพื้นที่ แม้มีประปาหัวแดงเพียงพอ แต่การช่วยเหลือยังเป็นที่ไม่น่าพอใจ เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจการใช้งาน มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องมาอำนวยความสะดวก โดยพื้นที่เยาวราชนี้ จะไม่ให้ตนพูดถึงคงไม่ได้ คือการที่ ลิซ่า ศิลปินระดับโลก มาถ่ายทำ MV ทำให้เสริมสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ตนจึงคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟู ดูแลความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงเร่งโปรโมตจุดท่องเที่ยวด้วย
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวถึงเหตุถังดับเพลิงระเบิดกลางโรงเรียนใน กทม. โรงเรียนหนึ่ง ขณะซักซ้อมแผนดับเพลิง ว่าตอนนั้น กทม. เรียกถังดับเพลิงที่ไม่ได้คุณภาพกลับไป แต่ยังไม่ได้เอามาเติม โดยได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง ตนขอให้ กทม.ได้เร่งดำเนินการเติมให้ครบด้วย
จากนั้นเปิดให้สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล อภิปรายแสดงความคิดเห็นสนับสนุนญัตติดังกล่าว โดยทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าต้องหาแนวทางการป้องกันในระยะยาว และซักซ้อมแผนการรับมือเมื่อเผชิญเหตุ และเมื่อสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ไม่มีสมาชิกคนใดเห็นเป็นอย่างอื่นที่จะส่งญัตติดังกล่าวให้รัฐบาล ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ส่งต่อรัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป