“ในวันที่ผมทำเกษตรเชิงเดี่ยว วันที่ราคาตก วันที่เจอภัยแล้งจนต้นไม้ยืนต้นตาย ผมเริ่มทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามที่ในหลวงสอน” นี่คือเสียงเล่าเรื่องราวชีวิตของนายจิรัฏฐ์ ทิพย์วงษ์ทอง เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีน ที่ในอดีตเคยปลูกยางพาราและประสบปัญหาราคาผันผวนและตกต่ำ อีกทั้งในเวลาต่อมาเกิดสภาวะแล้งจัดติดต่อกัน ทำให้ยางพารายืนต้นตาย ตนเองจึงเกิดความท้อแท้เป็นอย่างมาก แต่กลับสู้ต่อ และน้อมนำเอาแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และนี่คือแรงจูงใจของตนให้กลับมาคิดทบทวน ว่าตนจะต้องทำเกษตรอย่างไร เพื่อให้มีทั้งอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวของตนเอง
นายจิรัฏฐ์ ทิพย์วงษ์ทอง เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า หลังจากที่ประสบปัญหา ตนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำสวนใหม่ จัดระบบการผลิตพืชให้มีความผสมผสาน และหมุนเวียนจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงหิมพานต์ กล้วย สมุนไพรและผักสวนครัว เช่น กะเพรา แมงลัก ถั่วฝักยาว เป็นต้น ทั้งนี้ชนิดของพืชที่ตนเลือกปลูกจะต้องมีการศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาด และมุ่งเน้นให้เป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปและจำหน่ายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกตลาดของพ่อค้าคนกลาง เพื่อลดทอนปัญหาการถูกกดราคา
ด้านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี (ส.ป.ก. ปราจีนบุรี) ได้มีภารกิจในการส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแปรรูปผลผลิตในสวนให้เป็นอาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ ของที่ระลึก สร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้เกษตรกร โดยนายจิรัฏฐ์เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้เรียนรู้งานที่จังหวัดนครราชสีมาในด้านการทำข้าวเกรียบรสชาติต่าง ๆ ซึ่งต่อมานายจิรัฏฐ์ได้นำมาปรับสูตรเพื่อให้มีรสชาติที่หลากหลายถูกปาก ถูกใจ ผู้บริโภค เช่น รสเห็ดหอม กะเพรา งาดำ เผือก มันม่วง ผักหวานป่า สาหร่าย ซึ่งวัตถุดิบมาจากสวนของตนเองและสวนของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง
จากที่กล่าวไปข้างต้น นายจิรัฏฐ์มีความต้องการที่จะเป็นทั้งเกษตรกรและเป็นพ่อค้า จึงได้ปรึกษาร่วมกับทางด้าน ส.ป.ก.ปราจีนบุรี ในการเชื่อมโยงเครือข่ายการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันผลผลิตที่เป็นสมุนไพร เช่น ฟ้าทลายโจร แก่นตะวัน รางจืด ขมิ้น จะจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และผลผลิตผักและอาหารแปรรูปอื่น ๆ จะจำหน่ายตลาดที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ราชดำเนินนอก ประดิพัทธ์ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และงานแสดงสินค้า สร้างรายได้มากกว่าวันละ 10,000 บาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนทั้งในครัวเรือนและเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินใกล้เคียงอีกด้วย
“ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.ปราจีนบุรี ตนมีความรู้สึกประทับใจที่มีที่อยู่ ที่ทำกิน ส.ป.ก.ปราจีนบุรี เป็นเหมือนพี่น้องที่คอยให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุน และเดินเคียงข้างทุกย่างก้าวตั้งแต่ตนยังตั้งตัวไม่ได้ มาจนถึงวันนี้ที่ ส.ป.ก.ไม่เคยทอดทิ้ง นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่จะตราตรึงใจไปตลอดชีวิต” นายจิรัฏฐ์ กล่าว