วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกรัฐบาล พล.ท.ธงชัย รอดย้อย รองเสนาฯ ทบ. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว รอง ผบช.ปส. นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัด มท. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัด สธ.แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม 

พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ต้องการลดความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน การประชุมในวันนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการเพื่อป้องกัน แก้ไข ปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนนี้ แบบเข้มข้น เน้นในระดับชุมชน หมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีข้อสั่งการให้ตรวจสอบทุกพื้นที่ ค้นหาหาผู้เสพผู้ค้าในชุมชน โดยเฉพาะที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และนำ “ร้อยเอ็ดโมเดล” หรือโมเดล “ท่าวังผา”ของจังหวัดน่าน มาขยายผลแก้ปัญหายาเสพติด

เพราะจากสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันพบว่าการขนส่งยาเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจึงอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบช่วยกวดขัน สกัดกั้นตลอดเส้นทางที่เป็นการลำเลียงยาเสพติด ตั้งแต่บริเวณชายแดนภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ และในเร็วๆ นี้ ผมจะเจรจาหารือกับทางจีนให้ช่วยเรื่องของการสกัดกั้น ควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ร่วมด้วย

นอกจากนี้  ยังเน้นย้ำเรื่องการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด ทั้งผู้ที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในคดีเสพสารเสพติดกว่า 1 แสนคน
 ทาง และผู้กระทำผิดฐานยาเสพติดที่ถูกคุมขังในเรือนจำโดยที่ยังไม่ได้รับการบำบัด เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ที่ปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 61  และพบว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำติดยาเสพติด จำนวน 229,320 คน ในจำนวนนี้ 77% มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลให้เรียนฟรี โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อลดจำนวนแนวโน้มผู้เสพยาเสพติด 
และกระทรวงยุติธรรมอยากจะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ต้องขัง เตรียมเรือนจำปรับเปลี่ยนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อยกระดับเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมต่อไป จะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำทางสังคมของผู้ต้องขัง โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. 

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดยาเสพติดในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ครอบครัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำงานด้านการบำบัด เพิ่มมาตรฐานการดูแลประชาชนให้มากขึ้น ใช้ MAPPING ค้นหารายบ้านทุกอำเภอ


โดยที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และสรุปผลการดำเนินงานปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน ดังนี้

1. ด้านการปราบปรามนักค้าและเครือข่ายยาเสพติด ผลการดำเนินการภาพรวมประสบผลสำเร็จมากกว่า 70% 

2. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 
สามารถนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดได้มากกว่า 90%

3. การนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัด ดำเนินการไปแล้วกว่า 84%

4. การดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จัดตั้งไปแล้วกว่า 2,348 แห่ง 

5. การจัดระเบียบทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในสถานบันเทิง สถานบริการ สถานศึกษา ดำเนินการไปแล้วกว่า 90% 

6. สรุปผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดภาพรวมปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) มีจำนวน 5 จังหวัดแรกที่ได้คะแนนตัวชี้วัดภาพรวมมากที่สุด คือ มหาสารคาม ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และสตูล

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความสำเร็จของการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน ทั้ง 4 เสาหลักในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่นใน 25 จังหวัด ที่ร่วมกันขับเคลื่อนข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างจริงจัง และประชาชนเข้ามามีบทบาท ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นถึงความตั้งใจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมมือกัน การเข้าร่วมประชุมในวันนี้ทำให้เห็นถึงความคืบหน้าและขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อประชาชน

รมว.ยธ. กล่าวปิดท้ายว่า ความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน คือการเน้นใช้ CBTx กับการบูรณาการค้นหาผู้เสพนำเข้าสู่ระบบการบำบัด โดยในอนาคตจะขอให้มีการร่วมประชุมระหว่าง มท. สธ. ยธ. เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และทำความเข้าใจกับประชาชน ใช้การฟื้นฟูทางสังคมเพิ่มเข้ามา เพื่อให้ประชาชนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงระยะ 3 เดือน นำบทเรียนมาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ

สำหรับกำหนดการประชุมครั้งต่อไป จะมีในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นี้