วันที่ 11ก.ค.67 ที่หอประชุมจังหวัดยโสธร  ศาลากลางจังหวัดยโสธร  นายชรินทร์  ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานงานรัฐพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช วันที่ 11 กรกฎาคม 2567  โดยมี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ศาล ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยโสธร  หัวหน้าส่วนราชการ และพสกนิกรชาวจังหวัดยโสธร ร่วมพิธี  โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้นำกล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องในวันที่ระลึกวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช วันที่  11 กรกฎาคม 2567

มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อแรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2199 มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่า เมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชกุมาร” ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า “พระนารายณ์“