วันที่ 11 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พลตำรวจโท คำรบ ปัญญาแก้ว (อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นผู้สมัคร สว. กลุ่ม2 กลุ่มกฎหมาย และคณะผู้สมัครสว. เข้าร้องทุกข์แจ้งความ ดำเนินคดีกกต. ทั้ง 7 คน และเลขากกต.กรณีดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งสว.ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
พลตำรวจโทคำรบ กล่าวว่า ครั้งนี้มองเห็นถึงความไม่เที่ยงธรรมของการลงคะแนนจึงมาที่กองปราบเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับกกต.ทั้ง 7 ราย และเลขา กกต.ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทางพนักงานสอบสวนทราบอีกครั้ง
ซึ่งเมื่อวานนี้ ตามที่เลขากกต.ได้แถลงข่าวตนได้ตั้งข้อสังเกตในการแถลงข่าว ว่าอาจจะเตรียมพร้อมไม่ดี เพราะมีการพูดจาในลักษณะวกไปวน จึงทำให้ตนสามารถสรุป ได้ว่า 3 ประเด็น คือ กกต. พบเห็นสิ่งผิดปกติ ระหว่างการลงคะแนน โดยแยกเป็นเรื่องคำร้องเรียนไว้ 3 ประเด็น คือ เรื่องของการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆของผู้สมัครที่ไม่ครบและไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด ซึ่งกกต. ระบุว่าไม่ถูกต้องประมาณ 65% และมีบัตรถูกร้องเรียนประมาณ 800 นั่นหมายความว่ามีผู้คุณสมบัติไม่ครบประมาณ 600 กว่าราย และพบว่ามีคำร้องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกอาจจะไม่เรียบร้อยติดมารับคำร้องประมาณ 3 เรื่อง ซึ่งแค่ 3 เรื่องควรระบุได้ว่าเป็นเรื่องใดบ้างแต่กับไม่ระบุ
ส่วนเรื่องการร้องเรียนการลงคะแนนไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยพลตำรวจโทคำรบ อ้างว่าสามารถจำตัวเลขที่เลขากกต.แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีทั้งหมด 47 เรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ อาศัย ปปง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวนคลี่คลาย ซึ่งกรณีดังกล่าวพลตำรวจโทคำรบตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ยังไม่รับรู้ในเรื่องของการพิสูจน์แต่มาด่วนสรุปว่าสุจริตและเที่ยงธรรม และจะใช้อำนาจตามมาตรา 42 ว่าหลังจากลงคะแนนได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการลงคะแนนโดยสุจริตและเที่ยงธรรมจึงประกาศรับรองสว.ซึ่งขัดแย้งกับที่เคยระบุไว้ว่ายังค้างคาอยู่ 47 เรื่อง ขณะที่ในมาตรา 42 ระบุว่าหลังลงคะแนนควรเก็บไว้ 5 วันเป็นอย่างน้อยซึ่งสามารถเก็บไว้กี่วันก็ได้ จนสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมจึงค่อยประกาศว่าถูกต้อง
ทั้งนี้ พลตำรวจโท คำรบ กล่าวอีกว่า เดิมวันนี้อยากจะแจ้งเพียงแค่มาตรา 32 แต่หลังจากพิจารณาแล้วคาดว่าจะต้องนำมาตรา 157 เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งวันนี้เป็นความชอบธรรมที่ตนและคณะจะมาแจ้งความดำเนินคดีต่อท่านโทษฐานที่เบียดเบียนการปฏิบัติตามหน้าที่เป็นความผิดตามมาตรา 32 และมาตรา 157 ต่อไป