ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ปีนี้เป็นปีที่โลกมีเหตุการณ์ประจวบเหมาะที่ 77 ประเทศเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศไม่มากก็น้อย
แต่ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสขอกล่าวถึงการเลือกตั้งในบางประเทศที่อาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์โลก ที่กำลังเผชิญหน้ากันในระหว่างสองขั้ว 2 ค่าย นั่นคือ ตะวันตกและตะวันออก อันนำมาสู่ความตึงเครียด ซึ่งอาจทำให้เกิดสงครามใหญ่หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้
ประเทศแรกแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาเป็นเดือนแล้วนั่นคืออินเดีย ชัยชนะของโมดิ แม้คะแนนเสียงจะลดลงแต่เขาก็กุมเสียงข้างมาก และสถานภาพของอินเดียในเวทีโลกนับวันจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก เพราะความที่เป็นประเทศใหญ่อินเดีย จึงมีน้ำหนักหากเข้าไปร่วมมือกับขั้วใดขั้วหนึ่ง และตอนนี้โมดิกำลังจะไปเยือนมอสโก เพื่อเจรจาและร่วมมือในการทำสัญญาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตามอง แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าอินเดียคงพยายามที่จะวางตัวเป็นกลาง เพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้อินเดียมากที่สุดที่จะมากได้จากทั้ง 2 ขั้ว และทถ้าอินเดียเกิดเทเข้าข้างรัสเซียในฐานะเพื่อนเก่ามันก็จะเป็นเรื่องทีเดียว
ประเทศต่อมาคืออิหร่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอิหร่านได้เลือกตั้งรอบ 2 ได้ ประธานาธิบดีมัสอูด เปเซซ กิยอน สายปฏิรูปเป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดีสายอนุรักษ์ ราอิซี ผู้เสียชีวิตจากเฮลิคอปเตอร์ตก ผลการเลือกตั้งสะท้อนภาพว่าชาวอิหร่านมีแนวโน้มอยากให้อิหร่านเปิดประเทศและสร้างสัมพันธ์กับตะวันตกมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกแซงก์ชั่น แต่ก็คงไม่ง่ายนักเพราะการเมืองภายในประเทศยังมีขุมกำลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มก้อนของอำนาจที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ข้าราชการ กลุ่มนักบวช และแม้แต่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม IRGC
อย่างไรก็ตามผู้นำสูงสุด คือ อายาตุลเลาะฮ์คามาเนอี ซึ่งเป็นผู้ชี้นำทิศทางของประเทศ คงจะสามารถควบคุมให้อิหร่านประนีประนอมกันได้ในระดับหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงภายใน
ในขณะที่การเมืองระหว่างประเทศก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับอิสราเอลและปาเลสไตน์
อังกฤษพึ่งผ่านการเลือกตั้งมาเช่นกัน และครั้งนี้พรรคเลเบอร์ ได้รับชัยชนะถล่มทลาย โดยเฉพาะกวาดได้ที่นั่งทั้งหมดในเวลส์ หลังจากปล่อยให้คอนเซอเวทีฟ (ทอรี่) ครองอำนาจมา 14 ปี ครับปัญหาสำคัญ คือ เศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตลอด แต่พรรคเลเบอร์ก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ง่ายนัก เพราะความขัดแย้งในเวทีโลก มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นนัยสำคัญ
ที่ชัดเจนผู้เขียนไม่เชื่อว่านโยบายเกี่ยวกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ของสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าสมาชิกพรรคเลเบอร์ในระดับรากหญ้าจะสนับสนุนปาเลสไตน์ แต่ระดับสูงนั้นได้รับเงินสนับสนุนการเลือกตั้งจากยิวไซออนิสต์ ส่วนนโยบายเกี่ยวกับยูเครนนั้น สหราชอาณาจักรอาจลดความช่วยเหลือลง เพราะต้องการลดทอนงบประมาณมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสวัสดิการภายในประเทศ
สำหรับสหรัฐฯไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นโยบายเกี่ยวกับตะวันออกกลางจะไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯจะต้องสนับสนุนอิสราเอลไม่ว่าอิสราเอลจะทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกาซา หรือชาวปาเลสไตน์อย่างไร สหรัฐฯก็จะต้องสนับสนุนอิสราเอล เพราะการเมืองภายในประเทศถูกครอบงำโดยขบวนการยิวไซออนิสต์
อย่างไรก็ตามปัญหารัสเซีย-ยูเครน เป็นอีกเรื่องที่จะแตกต่างอย่างมาก จากผลการเลือกตั้ง เพราะถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ปัญหายูเครนมีโอกาสแก้ไขได้ด้วยความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรกันระหว่าง ทรัมป์-ปูติน
สุดท้ายที่จะพูดถึงคือการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ประเด็นแรกมาครง ถูกวิจารณ์ว่าเขาตัดสินใจผิดที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนเวลา ทั้งๆที่ยังไม่จำเป็นในเมื่อ สส.ฝ่ายเขาหรือสายกลางมีเสียงข้างมากอยู่ในสภา แม้ว่าฝ่ายขวาจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภายุโรปก็ตาม
อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งออกมาผิดจากผลเลือกตั้งรอบแรก นั่นคือคาดว่าฝ่ายขวาจัดจะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย นั่นคือการเลือกตั้งรอบสองฝ่ายซ้ายมีการปรับตัว และรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จนทำให้ฝ่ายซ้ายได้รับการเลือกตั้งมากสุด โดย NFP ได้ที่นั่ง 188 ที่นั่ง ฝ่ายเป็นกลางของมาครงได้ 161 ที่นั่งส่วนฝ่ายขวา RN ได้คะแนนเพิ่มมามากจากเดิม 88 เป็น 142
กระนั้นก็ตามไม่มีใครมีเสียงข้างมากในสภาทั้งหมด 577 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่าต้องได้อย่างน้อย 289 ที่นั่ง
ความเป็นไปได้คือพรรคฝ่ายซ้าย NFP มีแนวโน้มว่าจะรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายเป็นกลาง และมีมาลองชองแกนนำของ NFP แนวร่วมฝ่ายที่มีการรวมตัว กันตั้งแต่พรรคกรีน พรรคสังคมนิยม และพรรคคอมมิวนิสต์
ปัญหาก็คือมาลองชองได้ชื่อว่าเป็นคนหัวแข็ง และมีความขัดแย้งกับฝ่ายซ้ายอื่นๆมาตลอด เพราะชอบทำตัวเป็นเจ้าลัทธิ
ทว่าก็เป็นมาลองชอง อีกนั่นแหละที่ออกมานำการรวมตัว NFP จนสามารถเอาชนะฝ่ายขวา RN ภายใต้การนำของมารี เลอแปง ได้อย่างพลิกความคาดหมาย
หากมีการรวมกันได้ระหว่าง NFP และฝ่ายเป็นกลางของมาครง มาลองชอง ก็น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และนโยบายของฝรั่งเศส ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญ นั่นคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเพิ่มงบรักษาพยาบาลและการศึกษาการลดอายุเกษียณจาก 63 เป็น 60 เป็นต้น และที่สำคัญคือการเพิ่มภาษีคนรวยมากขึ้น เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่าย
ส่วนนโยบายต่างประเทศฝ่าย NFP ค่อนข้างเห็นใจชาวปาเลสไตน์ จึงคงจะหันมาสนับสนุนปาเลสไตน์มากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจานี้ฝ่าย NFP ยังมีความเห็นอกเห็นใจผู้อพยพเพราะเข้าใจปัญหาว่าส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของฝรั่งเศสที่ออกไปล่าอาณานิคมในอดีต ตลอดจนการไปแทรกแซงประเทศอื่นทำให้เกิดสงครามจลาจลอย่างในลิเบีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมีบางคนนำเสนอทฤษฎีเกือกม้านั่นคือ การมองว่าความล้มเหลวของมาครง และฝ่ายเป็นกลาง อาจทำให้ฝ่ายซ้าย NFP และฝ่ายขวา RN เข้ามาใกล้กันจนรวมกันได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีช่องว่างทางความคิดสูงมากเกินไป
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างตะวันตก ตะวันออก ก็คงยังดำรงอยู่ด้วยผลประโยชน์ที่ขัดแย้งระหว่างผู้ที่จะสูญเสียอำนาจและผู้ที่ต้องการปลดแอกจากการผูกขาดอำนาจ